เมรัยพิฆาต | paperyard
top of page
เมรัยพิฆาต
  • แปลจากหนังสือ: L’Assommoir
  • ผู้เขียน: เอมิล โซลา
  • ผู้แปล: ทัศนีย์ นาควัชระ
  • ออกแบบปก: นักรบ มูลมานัส
  • สำนักพิมพ์: อ่าน101
  • จำนวนหน้า: 584 หน้า ปกแข็ง สันโค้ง เย็บกี่ กระดาษถนอมสายตา 75 แกรม
  • พิมพ์ครั้งที่ 1 — มกราคม 2564
  • ISBN: 9786169357292

เมรัยพิฆาต

฿795.00 ราคาปกติ
฿715.50ราคาขายลด
สินค้าหมด
  • บาร์อัซซ็อมมัวร์ ในกรุงปารีส เป็นสถานที่หย่อนใจคลายความเมื่อยล้าของเหล่ากรรมกรที่มีห้องเช่าอยู่ในละแวกนั้น  ที่นี่ขายเมรัยราคาถูก แต่ฤทธิ์แรงพอที่จะ ‘ฟาดให้ฟุบ’ ผู้ดื่มจะได้เมาจนลืมความเหน็ดเหนื่อยจากงานหนัก และหลบลี้ไปจากปัญหาสารพันในชีวิตลำเค็ญของพวกเขาได้ชั่วครู่ชั่วยาม

    แจร์แวส กับ ล็องติเยร์ ผัวหนุ่ม-เมียสาวจากเมืองทางใต้ของฝรั่งเศส หอบหิ้วลูกน้อยสองคนมาผจญชีวิตในกรุงปารีส  หลังจากเงินมรดกที่มีติดตัวมาหมดลง พวกเขาก็เข้าตาจน  ล็องติเยร์ทิ้งภาระให้แจร์แวสต้องทำงานรับจ้างซักรีดเพื่อเลี้ยงดูลูกชายทั้งสอง  ยังดีอยู่บ้างที่มี กูโป ช่างมุงหลังคา คอยประคับประคองและเป็นที่พึ่งในยามยาก  แจร์แวสฝันที่จะมีร้านซักรีดเป็นของตัวเอง จึงทุ่มเททำงานหนักและเก็บหอมรอมริบอย่างจริงจัง พยายามไม่เฉียดใกล้บาร์อัซซ็อมมัวร์เพราะยังฝังใจเรื่องพ่อขี้เมาที่ทุบตีทำร้ายเธอกับแม่ และไม่อยากเป็นคนไร้ความรับผิดชอบเหมือนล็องติเยร์  แต่ชีวิตของเธอได้ดำเนินมาถึงกลางวังวนของความทุกข์ยากนานัปการ แค่ความหวังเพียงเล็กน้อยว่าอยากลืมตาอ้าปากได้บ้าง ก็เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญกว่าที่คิด

    เมรัยพิฆาต เป็นนวนิยายยอดนิยมอีกเรื่องหนึ่งในชุด เลส์ รูกง-มักการ์ (Les Rougon-Macquart) ซึ่งมีมากถึง 20 เล่ม  ผลงานของ เอมิล โซลา นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสผู้มีเกียรติภูมิสูงส่งในระดับโลก จากผลงานอันสะท้อนพันธกิจที่ว่า นักเขียนมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยบาดแผลอันน่าสะพรึงกลัวของสังคมเพื่อที่จะประกาศว่า “นี่คือโรคร้าย นี่คือเนื้อร้าย จงบำบัดรักษาโดยเร็ว อย่าปล่อยให้แผ่กระจายจนทำลายร่างกายให้ผุพังเลย”

    ในเล่มนี้มีเรื่องราววัยเด็กและวัยรุ่นของเอเตียน ลูกชายคนที่สองของแจร์แวส มักการ์ ซึ่งจะกลายเป็นตัวเอกในเล่ม พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ (Germinal)  เช่นเดียวกับโคล็ด พี่ชายคนโต ที่ได้กลายเป็นตัวเอกในเล่ม งานศิลป์ (L’Oeuvre)  และ นาน่า น้องสาวคนที่สาม ก็ได้กลายเป็นตัวเอกในเล่ม นาน่า (Nana)

  • เมรัยพิฆาต เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านในระดับสูงมาก ทั้งในยุคที่ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่และในยุคหลัง ๆ ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้  มีผู้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันถึงความเป็นสากลของวรรณกรรมเรื่องนี้   อันที่จริงโซลาเป็นนักประพันธ์ที่มีเกียรติภูมิสูงส่งในระดับโลก เพราะมิใช่เป็นเพียงนักเขียนที่กอปรด้วยอัจฉริยภาพทางวรรณศิลป์เท่านั้น แต่สำนึกในเชิงสังคมและในเชิงจริยธรรมของเขาทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนผู้บุกเบิกวิถีทางการต่อสู้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัจจะและความยุติธรรมในสังคม  เรียกได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักประพันธ์เอกของโลกที่เป็นเสียงแห่งมโนธรรมให้แก่มนุษยชาติ

     

     

     

    แนะนําผู้ประพันธ์  (เผื่อจำเป็นต้องใช้)

    เอมิล โซลา (Emile Zola) เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในโลกวรรณกรรมตะวันตก นักเขียนผู้นี้เป็นผู้นําการเขียนนวนิยายแนวธรรมชาตินิยมที่ต่อเนื่องจากนวนิยายแนวสัจนิยม นั่นก็คือ เน้นความสําคัญของอิทธิพลทางกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ เปิดเผยความจริงทุกแง่มุมของสังคมโดยมิหวั่นเกรงต่อการตกเป็นเป้าการโจมตีของผู้ที่ไม่ยอมรับความจริง  แต่เราต้องเข้าใจว่างานวรรณกรรมของโซลามิได้แต่เพียงเสนอความจริงโดยมิได้ปิดบังอําพรางเท่านั้น หากยังสะท้อนทัศนะของเขาเกี่ยวกับบทบาทของวรรณกรรมและพันธกิจของนักเขียน โดยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสํานึกในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความสํานึกเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นการใช้วรรณกรรมในภารกิจอันสูงส่งด้วยการปลุกมโนสํานึกของมนุษยชาติ

    โซลาเกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1840 ที่กรุงปารีส  บิดาเป็นวิศวกรเชื้อสายอิตาเลียน  ในปี ค.ศ. 1843 ครอบครัวได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองเอ็กซ์-อ็อง-โปรว็องซ์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส  โซลาได้รับการศึกษาขั้นประถมและมัธยมที่เมืองนั้น   การที่บิดาของเขาได้ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน เมื่อเขาอายุเพียง 7 ปี ครอบครัวโซลาจึงดำรงชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน และได้ย้ายกลับมาอยู่ปารีสในเวลาต่อมา   โซลาเข้าศึกษาต่อในขั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมแซ็งต์-หลุยส์  แต่โซลาไม่สําเร็จการศึกษาชั้นมัธยมเพราะสอบไล่ไม่ผ่าน จำเป็นต้องทํางานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว   โซลาเขียนบทความ เรื่องสั้น บทละคร นวนิยาย และเขียนคอลัมน์ประจําในหนังสือพิมพ์หลายฉบับในขณะที่ทํางานอยู่และหลังจากลาออกจากงานเพื่อยึดอาชีพเขียนหนังสืออย่างเดียว

    ในบรรดางานวรรณกรรมแนวธรรมชาตินิยม คงจะไม่มีผลงานของนักประพันธ์ผู้ใดที่นับได้ว่าเป็นแบบฉบับของงานวรรณกรรมประเภทนี้ได้ดีเท่าผลงานของโซลา และคงจะไม่มีผลงานชิ้นใดของโซลายิ่งใหญ่เทียบเทียมนวนิยายชุด เลส์ รูกง-มักการ์ (Les Rougon-Macquart)   นวนิยายชุดนี้แบ่งออกเป็น 20 ตอน แต่ละตอนเป็นนวนิยายขนาดยาว บันทึกเรื่องราวของคนในตระกูลรูกง-มักการ์  การผูกเรื่องของนวนิยายแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เกือบจะไม่ต้องเท้าความถึงนวนิยายเรื่องก่อนหรือเกี่ยวโยงกับเรื่องต่อไป  นวนิยายชุดนี้มีชื่อรองว่า ประวัติทางกรรมพันธุ์และสังคมของคนตระกูลหนึ่งในยุคจักรวรรดิที่สอง   โซลาเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องที่สองในปี ค.ศ. 1871 และเขียนเรื่องสุดท้ายจบในปี ค.ศ. 1893   นวนิยายเรื่อง L'Assommoir หรือ เมรัยพิฆาต ในพากย์ไทยเป็นเรื่องที่ 7 เขียนในปี ค.ศ. 1877 ซึ่งเป็นผลงานที่ประสบความสําเร็จอย่างใหญ่หลวงในยุคนั้นและในยุคต่อ ๆ มา

    โซลาได้รับการยกย่องจนตราบเท่าทุกวันนี้ ว่าเป็นนักเขียนผู้บุกเบิกวิถีทางการต่อสู้เพื่อธํารงไว้ซึ่งสัจจะและความยุติธรรมในสังคม   โซลาเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ยากไร้ และพร้อมที่จะปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด ดังที่เขาได้ออกมาร่วมขบวนการต่อสู้อย่างอาจหาญในคดีเดรย์ฟุส   ที่มาของคดีนี้เกิดจากการที่ร้อยเอกอัลเฟรด เดรย์ฟุส นายทหารเชื้อสายยิว ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้เยอรมนี ในปี ค.ศ. 1894 เขาถูกจับและถูกศาลทหารพิพากษาจําคุกตลอดชีวิต และถูกส่งไปเป็นนักโทษที่เกาะปีศาจในกุยยาน อาณานิคมโพ้นทะเลอันทุรกันดารของฝรั่งเศส   โซลาได้เขียนบทความจํานวนมากลงในหนังสือพิมพ์เพื่อขอความเป็นธรรมให้เดรย์ฟุส เพราะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าเดรย์ฟุสเป็นเหยื่อของขบวนการต่อต้านยิวในกองทัพ   การต่อสู้ครั้งนี้ทําให้โซลาประสบวิกฤตการณ์ในชีวิตอย่างรุนแรง เพราะถูกรัฐบาลฟ้องร้องในข้อหาที่เขียนบทความโจมตีกองทัพ ต้องเสียทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อต่อสู้คดี เสียค่าปรับ และยังถูกศาลตัดสินจําคุก 1 ปี จนต้องลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ  แต่ในที่สุดเขาก็ประสบชัยชนะเพราะมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ และรัฐบาลประกาศว่าเดรย์ฟุสเป็นผู้บริสุทธิ์ในปี ค.ศ. 1906 (หลังจากโซลาถึงแก่กรรมไปแล้ว 4 ปี)

    โซลาถึงแก่กรรมในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1902 ด้วยการหายใจเอาก๊าชคาร์บอนมอนอกไซด์จากถ่านหินในเตาผิงขณะนอนหลับ  มีผู้สันนิษฐานว่าเขาอาจถูกฆาตกรรมโดยขบวนการชาตินิยมที่อาฆาตเคียดแค้นว่าเขาได้ร่วมต่อสู้เพื่อช่วยเหลือเดรย์ฟุส  ได้มีการประกอบพิธีฝังศพโซลาที่สุสานมงต์มาร์ตร์ในวันที่ 5 ตุลาคม   อนาตอล ฟร็องซ์ (Anatole France) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสได้สดุดีโซลาในคําไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า เขา (โซลา) เป็นจุดสําคัญในมโนธรรมของมนุษยชาติ   หกปีต่อมา คือในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1908 ศพของโซลาได้ถูกนํามาไว้ที่ป็องเต-อง (Panthéon) ซึ่งเป็น สถานที่ไว้ศพบุคคลสําคัญของประเทศฝรั่งเศส

ส่งฟรี เมื่อทำรายการสั่งซื้อ 600 บาทขึ้นไป (ส่งแบบธรรมดา)

มีบริการเก็บเงินปลายทาง (COD)

หนังสือที่เราคิดว่าคุณน่าจะชอบ

bottom of page