- ผู้เขียน: Antoine de Saint-Exupéry
- ผู้แปล: โคทม อารียา, พรทิพย์ อารียา
- สำนักพิมพ์: นาคร
- จำนวนหน้า: 232 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 5 — ตุลาคม 2557
- ISBN: 9786167184432
แผ่นดินของเรา
“แผ่นดินของเรา” แซงแต็กซูเปรียังคงใช้สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนเป็นตัวผ่านเพื่อทำความเข้าใจชีวิตและโลกและเช่นเดียวกับ “ไปรษณีย์ใต้” แซงแต็กซูเปรีให้ความรำลึกย้อนหลังหลายๆ เหตุการณ์มาประกอบขึ้นด้วยภาพพจน์อย่างกวีนิพนธ์ เพื่อฉายภาพความหมายของชีวิตที่เขาเห็นและรู้สึก ความรำลึกย้อนหลังนั้นเป็นทั้งความทรงจำของตัวเขาเอง และความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อนรักของเขาที่ชื่อกิโยเมซึ่งเขาอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ ทั้งหมดของความทรงจำนั้นคือ ความรู้สึกขณะมุนษย์เผชิญหน้ากับความตาย ภาวะขณะที่กำลังต่อสู้กับมันเพื่อตีฝ่าออกมาให้ได้ และภาวะเช่นนี้เองที่แซงแต็กเปรีเชื่อมั่นว่าทำให้มนุษย์รู้จักและเข้าถึงความหมายของคำว่า “ชีวิต”
เครื่องบินยังคงเป็นสิ่งสำคัญในนวนิยายเล่มนี้ เครื่องบินเป็นเครื่องมือในการค้นหาความหมายของโลก และตัวละครนักบินยังคงแสวงหาสมบัติบางอย่างอีกเช่นเคย ทว่าคราวนี้ “สมบัติ” ที่แซงแต็กซูเปรีค้นหา หาได้อยู่ “นอกโลก” หรือเหนือความเป็นมนุษย์เช่นในนวนิยายสองเล่มก่อนแต่มันซ่อนอยู่ในผืนดินของเรา และที่สุดแล้วก็คือในตัวของเรานี่เอง ภาวะการค้นพบคำตอบเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ในเสี้ยวชีวิตซึ่งประจันหน้ากับความตาย และผ่านออกมาได้ หาใช่การ “รู้จัก” แต่เป็นการ “หยั่งเห็น” ใน “จดหมายถึงตัวประกัน” นวนิยายซึ่งเขียนขึ้นหลัง “เจ้าชายน้อย” แซงแต็กซูเปรีเสมือนสรุปการค้นหาตลอดชีวิตของเขาไว้ในบทแรกว่า “การรู้จักก็คือการเข้าไปสู่การหยั่งเห็นแต่ก่อนที่จะหยั่งเห็นได้นั้น เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเสียก่อน”