คนฟินแลนด์คือผู้ใช้ห้องสมุดที่กระตือรือร้นมากที่สุด
top of page

คนฟินแลนด์คือผู้ใช้ห้องสมุดที่กระตือรือร้นมากที่สุด

ทำไมเมืองของฟินแลนด์ถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ชื่นชอบห้องสมุด


"บัตรห้องสมุดเป็นสิ่งแรกที่ฉันได้เป็นเจ้าของ"

นี่คือคำพูดของ Nasima Razmyar ลูกสาวของอดีตทูตอัฟกานิสถาน เธอและครอบครัวได้มายังฟินแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในปี 1992 ด้วยอุปสรรคทางด้านภาษา และการต้องพยายามปรับตัวกับเมืองใหม่ จึงทำให้เธอแปลกใจที่พบว่า เธอเองก็มีสิทธิได้รับบัตรห้องสมุด ซึ่งทำให้เธอสามารถยืมหนังสือได้ฟรี ซึ่งเธอยังเก็บมันไว้ในกระเป๋าสตางค์จนถึงทุกวันนี้


ปัจจุบัน Razmyar ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเฮลซิงกิ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนสถาบันการเรียนรู้อย่างห้องสมุด โดยเริ่มจากการสร้าง ห้องสมุด Oodi หอสมุดกลางแห่งใหม่ของเมืองที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้



ท่ามกลางวิกฤติการที่ห้องสมุดทั่วโลกกำลังเผชิญกับการลดงบประมาณสนับสนุน การลดลงของผู้ใช้งาน และการปิดตัว แต่ในประเทศฟินแลนด์กลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น


"ฟินแลนด์เป็นประเทศที่เป็นผู้อ่าน"

ปี 2016 องค์การสหประชาชาติได้ยกให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการศึกษามากที่สุดในโลก และคนฟินแลนด์ก็เป็นกลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดที่กระตือรือร้นมากที่สุดในประเทศ ด้วยประชากร 5.5 ล้านคน แต่มีการยืมหนังสือเกือบ 68 ล้านเล่มต่อปี


ตามตัวเลขในปี 2016 สหราชอาณาจักรมีค่าใช้จ่าย 14.40 ยูโรต่อหัวสำหรับห้องสมุด ในทางตรงกันข้าม ฟินแลนด์มีค่าใช้จ่ายถึง 50.50 ยูโรต่อคน มากไปกว่านั้น มีห้องสมุดถูกปิดไปแล้วกว่า 478 แห่งในอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ในปี 2010 ขณะเดียวกัน กรุงเฮลซิงกิมีการใช้งบประมาณกว่า 98 ล้านยูโรสร้างโครงการใหม่อย่างมหาศาล และเป้าหมายมิใช่เพียงการสร้างห้องสมุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


ประชากรกว่า 84% ของประเทศเข้าใช้งานห้องสมุดของฟินแลนด์อยู่เสมอ และสำหรับพวกเขา มันไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับการศึกษา อ่าน หรือยืมหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการพบปะทางสังคมอีกด้วย


เรียงจากซ้ายไปขวา - 1. Lohja ห้องสมุดหลักซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2005 / 2. ห้องสมุด Vallila ในกรุงเฮลซิงกิ / 3. ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Aalto ในเมืองเอสโป



Antti Nousjoki หนึ่งในสถาปนิกของ Oodi ได้นิยามถึงห้องสมุดอันทันสมัยแห่งนี้ว่า "จัตุรัสในตัวเมือง ( an indoor town square)" กล่าวคือ "Oodi ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้พลเมืองและผู้เยี่ยมชมมีพื้นที่ว่างในการทำสิ่งที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้บริโภค (นักอ่าน) หรือผู้มีรสนิยม (ผู้ดี) เท่านั้น"


จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้องสมุด Oodi จะได้รับการยกย่องให้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปีการประกาศอิสรภาพของฟินแลนด์ จึงเห็นได้ชัดว่าห้องสมุดแห่งนี้ไม่ใช่เพียงสถานที่เก็บหนังสือ แต่ยังเป็นถึงอนุสาวรีย์แห่งความภาคภูมิใจของประชาชน


แผนผังชั้นแรกออกแบบโดย Karl Hård af Segerstad สถาปนิกเมืองเฮลซิงกิในปี 1909
ผังหอสมุด Kallio ที่เปิดขึ้นในปี 1912 ในย่านที่เติบโตในกรุงเฮลซิงกิ

ถึงกระนั้นห้องสมุด Oodi ก็มิใช่ห้องสมุดแห่งเดียวที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้คน สิ่งหนึ่งที่อธิบายถึงความกระตือรือร้นในการใช้งานห้องสมุดของคนฟินแลนด์ได้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ห้องสมุดเหล่านี้ให้อะไรมากกว่าหนังสือมากนัก


ในขณะที่ห้องสมุดทั่วโลกจำนวนมากมีการให้บริการอินเทอร์เน็ต และบริการเสริมอื่น ๆ แต่ห้องสมุดในเมืองต่าง ๆ ทั่วฟอนแลนด์มีการขยายขอบเขตการให้บริการมากไปกว่านั้น ทั้งการให้ยืมสิ่งพิมพ์อเล็กทรอนิกส์ (ไม่ว่าจะเป็น e-book หรือ audio-book), อุปกรณ์กีฬา, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งของจิปาถะที่จำเป็นต้องใช้เป็นครั้งคราว หนึ่งในห้องสมุดของเมืองวานตาถึงขั้นมีห้องคาราโอเกะเสียด้วยซ้ำ


บางคนอาจจะคิดว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้การสนใจหนังสือลดน้อยลง แท้จริงแล้ว มันเป็นการออกแบบที่เสริมสร้างให้พื้นที่มีชีวิตชีวามากขึ้น และสร้างแรงดึงดูดแก่ชุมชนและเมืองให้เข้ามาใช้บริการ ห้องสมุดในย่าน Maunula ที่อยู่ทางตอนบนของกรุงเฮลซิงกิถึงขั้นมีประตูที่เชื่อมไปสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตเสียด้วยซ้ำ


Maunula House ซึ่งมีห้องสมุดท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ และศูนย์เยาวชน - และมีประตูสู่ซุปเปอร์มาร์เก็ต

ห้องสมุด Oodi เป็นห้องสมุดที่ทันสมัยของเฮลซิงกินี้มีองค์ประกอบที่เหนือยิ่งขึ้นไป มันมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร มีโรงภาพยนตร์ สตูดิโอบันทึกเสียง และพื้นที่ของช่างฝีมือ (พร้อมอุปกรณ์ผลิตเครื่องปั้น หรือเครื่องพิมพ์3D) และไม่แน่อาจจะมีห้องซาวน่าเสียด้วยซ้ำ


นี่ยังไม่รวมถึงการที่มันตั้งอยู่ตรงข้ามและในระนาบเดียวกับอาคารรัฐสภา สะท้อนแนวคิดด้านประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งถึงสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ คือ การศึกษาที่เท่าเทียม และการเป็นพลเมืองที่ดี

bottom of page