อบิเกล ฟิลมอร์ - สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้ให้กำเนิดห้องสมุดในทำเนียบขาว
top of page

อบิเกล ฟิลมอร์ - สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้ให้กำเนิดห้องสมุดในทำเนียบขาว



ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มักจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทำเนียบขาวไม่มากก็น้อยเสมอ พร้อมกับการมาถึงของประธานาธิบดีคนใหม่เสมอ (อาจจะทุก 4 ปี หรือ 8 ปี) . อย่างที่รับรู้กัน ทำเนียบขาวนั้นเป็นทั้งสถานที่ทำงานและที่พำนักของประธานาธิบดีและครอบครัว ดังนั้นสภาพแวดล้อมภายในทำเนียบจึงปรับเปลี่ยนไปตามกิจวัตรของผู้อาศัย . ปกติแล้วคนที่ควรมีอำนาจในการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมภายในทำเนียบขาวควรจะเป็นประธานาธิบดี . แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ภายใต้อาคารสไตล์นีโอคลาสสิก ผู้ที่มีบทบาทในการจัดการกลับเป็นผู้หญิงที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง" ในขณะนั้น . แม้แต่ผู้นำโลกเสรี ก็ยังแพ้อำนาจเมีย . ยกตัวอย่างเช่น ปี 1889-1893 สมัยเบนจามิน แฮร์ริสัน . ภริยาของแฮร์ริสัน หรือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้นคือ แคโรไลน์ แฮร์ริสัน ถือได้ว่าเป้นผู้หญิงคนแรกที่มีความคิดริเริ่มจะขยายปรับปรุงทำเนียบขาว

เธอได้รับการจัดสรรงบ 35,000 เหรียญสหรัฐฯ จากสภาคองเกรสในการปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ด้วยความที่แครอไลน์เคยเป็นครูสอนดนตรีมาก่อน เธอจึงมีความเป็นศิลปินอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งยังมีความสนใจด้านประวัติศาสตร์เป็นการส่วนตัว

เธอเปลี่ยนปีกตะวันออกของอาคารบางส่วนให้เหมือนเป็นแกลอรี่ประวัติศาสตร์, เธอเป็นคนแรกที่นำต้นคริสมาสต์เข้ามาในทำเนียบขาว รวมทั้งยังจัดตั้งคลาสวาดภาพสไตล์ตะวันออกสำหรับผู้หญิงในทำเนียบด้วย . . ย้อนกลับไปสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1850 กับการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 13 ของสหรัฐอเมริกาของมิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ . ก่อนหน้านั้นพื้นที่ส่วนทำงานและส่วนพักอาศัยของประธานาธิบดียังค่อนข้างปะปนกันอยู่ และแออัดยัดเยียด

บนชั้นสองของอาคารในส่วนที่พักอาศัย จะมีห้องหนึ่งที่ถูกเรียกว่าห้องรูปไข่สีเหลือง ห้องนี้ถูกใช้เป็นห้องวาดภาพในสมัยประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ เป็นห้องนั่งเล่นที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์นัก . แต่การเข้ามาของมิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ ได้นำผู้หญิงอีกคนเข้ามาด้วย ผู้ที่กลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และสร้างห้องสมุดแห่งแรกในทำเนียบ ขึ้นมาในห้องรูปไข่สีเหลืองนั้น . สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนนั้นชื่อว่า "อบิเกล ฟิลล์มอร์" _________________________ . อบิเกล ฟิลล์มอร์ หรือชื่อเดิมคือ อบิเกล พาวเดอร์ส์ เกิดในเมืองสติลวอเทอร์ เมืองเล็ก ๆ ในฟากตะวันออกของนิวยอร์ก ประชากรมีเพียงสองพันกว่าคนเท่านั้น . เธอเป็นลูกสาวคนเล็กสุดจากพี่น้องจำนวนเจ็ดคน พ่อของเธอ--เลมูเอล ลีแลนด์ พาวเวอร์ส์ เป็นผู้นำทางศาสนาของนิกายแบปทิสต์

พ่อของอบิเกลเสียชีวิตหลังจากเธอเกิดไม่นาน ทำให้แม่ของเธอตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปทางทิศตะวันตก แต่เพราะด้วยสถานะยากจนของครอบครัว พวกเธอจึงเดินทางไปได้ไม่ไกลนัก

ครอบครัวของอบิเกลย้ายมาอยู่ที่โมราเวีย เขตคายูกา ซึ่งไม่ไกลจากฟาร์มของตระกูลฟิลมอร์ ว่าที่สามีในอนาคตของเธอมากนัก

แต่การที่มีลูกถึงเจ็ดคน ทำให้ครอบครัวของอบิเกลมีสถานะที่ยากจนมาก พี่น้องของเธอได้รับการศึกษาที่น้อยมาก สิ่งเดียวที่ทำให้อบิเกลมีความรู้ก็คือ ห้องสมุดและหนังสือ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อผู้ล่วงลับ . . อบิเกลชื่นชอบการเรียนรู้มาก ตลอดชีวิตของอบิเกลอุทิศให้แก่การศึกษา เธอตัดสินเข้าไปทำงานเป็นครูตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี แม้กระทั่งตอนแต่งงานและท้องลูกชายคนแรก เธอก็ยังทำหน้าที่สอนหนังสือ จวบจนวันที่ลูกชายของเธอคลอด . ก่อนหน้านี้ได้พบกับมิลลาร์ด ฟิลมอร์ที่สถาบันความหวังใหม่ (New Hope Academy) ซึ่งขณะนั้นเขาทำอาชีพเป็นทนายความ และมาลงทะเบียนเรียนศึกษาต่อ

คนทั้งสองนั้นชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน ดังนั้นหลังจากที่พวกเขาทั้งสองแต่งงาน เธอก็มักแบ่งปันลิสต์หนังสือที่เธอชอบอ่าน กับสามีอยู่ตลอดเวลา

พวกเขาทั้งคู่ย้ายมาสร้างบ้านอยู่ที่อีสต์ออโรรา และแน่นอนว่าในบ้านจะต้องมีห้องสมุดส่วนตัว ก็ช่วยกันสร้างห้องสมุดส่วนตัวขึ้นมาในบ้านด้วย

อบิเกลเริ่มซื้อหนังสือวรรณกรรม บทกวี และหนังสือคลาสสิกมากขึ้น เข้ามาสอดแทรกหนังสือกฎหมายของสามี

ห้องสมุดส่วนตัวของคนทั้งสองมีหนังสือมากกว่าสี่พันเล่ม . . มิลลาร์ด ฟิลมอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากการเสียชีวิตจากโรคกระเพาะอาหารของประธานาธิบดีแซคารี เทย์เลอร์

ฟิลมอร์ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้นจึงได้รับการเลื่อนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน . เมื่ออบิเกลต้องย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในทำเนียบขาวครั้งแรก เธอต้องประหลาดใจเป็นอันมาก เมื่อได้รับรายงานว่า ทำเนียบขาวนั้นไม่มีห้องสมุด . ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีถูกพัฒนาและปฏิวัติไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อบิเกลกลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง

เช่น เป็นครั้งแรกที่ประชาชนคนอเมริกาได้เห็นภาพถ่ายเต็มตัวของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งถูกนำไปพิมพ์ไว้บนโปสการ์ดท่องเที่ยว

เธอเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้สวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยจักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในสมัยนั้น ทำให้เธอกลายเป็นตัวอย่างของสตรีในยุคสมัย อีกทั้งยังเป็นผู้ปลุกจิตสำนึกเรื่องบทบาทของสตรีให้เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย . ด้วยเหตุนี้เอง อบิเกลจึงมีอิทธิพลในแวดวงสังคมชนชั้นนำเป็นอย่างมาก เมื่ออบิเกลต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่ เธอจึงทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีห้องสมุด . แฮเรียต เฮฟเวน ภรรยาของเพื่อนทนายของฟิลมอร์ เคยให้เขียนถึงเรื่องเธอไว้ว่า . "เธอ (อบิเกล) เคยชินกับการถูกห้องล้อมไปด้วยหนังสือ จดหมายอ้างอิง แผนที่ และสิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดห้องสมุดที่ได้รับการตกแต่งอย่างดี

"เธอพบว่ามันยากที่จะทำใจอยู่ในบ้านที่ปราศจากสถานที่วิเศษเช่นนี้

"เพื่อตอบสนองความต้องการของภรรยา ฟิลมอร์จึงนำเรื่องนี้เสนอแก่สภาคองเกรส เพื่อขอการจัดสรรงบประมาณสำหรับการสร้างห้องสมุด" . . อบิเกล ฟิลล์มอร์ ได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดสร้างห้องสมุดก็จริงอยู่ แต่คนที่มีหน้าที่จัดหาและคัดเลือกหนังสือจริง ๆ ก็คือ ชาร์ล แลนแมน อดีตบรรณารักษ์ที่เป็นเลขานุการของรัฐมนตรีต่างประเทศ . กล่าวได้ว่าเธอไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือมากนัก ถึงกระนั้นเธอก็สั่งซื้อหนังสือนอกรายการของแลนแมนเข้ามาบ้าง เช่น งานเขียนของดิกเค่น, ธาเคอเรย์ และฮอว์ธอร์น

และริเริ่มเปลี่ยนห้องรูปไข่ชั้นสองเป็นห้องสมุดด้วยการสั่งทำตู้หนังสือพิเศษขึ้นมาสามหลัง . . ในห้องสมุดประจำทำเนียบแห่งนี้ หนังสือส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ มีชุดรับแขกและเปียโนอยู่กลางห้อง

บ่อยครั้งที่เธอเชิญให้วิลเลียม ธาเคอเรย์, ชาร์ล ดิกเค่น และวอชิงตัน เออร์วิง สามนักเขียนชื่อดังในยุคสมัยนั้น รวมถึงศิลปินมีชื่อคนอื่น ๆ มารวมตัวกันในห้องสมุดแห่งนี้

กลายเป็นว่าเธอได้สร้างบุ๊คคลับขนาดย่อมขึ้นมาในทำเนียบขาว . และถึงแม้เธอจะถูกรายล้อมไปด้วยปัญญาชนที่เป็นบุรุษมากมาย เธอกลับได้รับการยกย่องว่า "เป็นคนที่มีไหวพริบในการสนทนาเป็นอย่างมาก เป็นผู้รอบรู้ที่สุดคนหนึ่งในบรรดาสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคแรก ๆ" . . น่าเสียดายที่ อบิเกล ฟิลมอร์ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน หลังจากสามีหมดวาระในการเป็นประธานาธิบดีเพียง 24 วัน

เธอเสียชีวิตในวัย 55 ปีจากอาการป่วยเป็นโรคปอดบวม หลังจากที่ได้สร้างสภาวะแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาในทำเนียบขาว ราวกับว่านั่นคือพันธกิจสุดท้ายที่เธอได้รับมอบหมายจากพระเจ้า . เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของ working women คนหนึ่งในยุคสมัยนั้น เธอถูกจดจำในฐานะของคนที่อุทิศให้การศึกษาและครู . เรื่องราวของอบิเดลสร้างแรงบันดาลใจและส่งอิทธิพลเป็นอย่างมากแก่หลานชายของเธอ--ไซรัส พาวเวอร์ส์ จูเนียร์

เขาได้สร้างห้องสมุดส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดใจกลางนิวยอร์ก และได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งหอสมุดวิจัยที่สำคัญในโมราเวีย บ้านเกิดของเขา . . ปัจจุบันห้องสมุดประจำทำเนียบขาวย้ายมาตั้งอยู่ในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของตึก ซึ่งเคยเป็นห้องซักรีด ซึ่งมีการกล่าวว่าในขณะนั้นเต็มไปด้วย "อ่าง ถัง และของจิปาถะนานาชนิด" ก่อนที่จะปรับปรุงเป็นห้องสมุดในปี 1929 สมัยเฮอร์เบิร์ด ฮูเวอร์ . มักจะถูกใช้เป็นส่วนรับรองแขกสำหรับการจิบน้ำชาหรือการพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง . ______________________ วิธีการสร้างสังคมอุดมความรู้ สร้างสังคมที่เต็มไปด้วยคนชอบอ่านหนังสือหรือรักการเรียนรู้ บางครั้งมันเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยการลงทุนกับตัวเอง

กล่าวคือ ถ้าเราอยากได้สภาวะแวดล้อมสังคมแบบใด เราต้องเริ่มจากการทำให้ตัวเองกลายเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมแบบนั้นเสียก่อน

ถ้าคุณอยากเห็นคนใกล้ตัวอ่านหนังสือ คุณก็ต้องอ่านหนังสือเสียก่อน และที่สำคัญก็คือ คุณจะต้องแสดงให้เห็นว่าการอ่านหนังสือนั้น ผลดีต่อชีวิตเช่นไร มีอิทธิพลในทางบวกต่อชีวิตเช่นไร

เมื่อเราเริ่มต้นที่ตัวเอง และเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว สุดท้ายตัวเราก็จะเริ่มส่งอิทธิพล ต่อพฤติกรรมของคนรอบข้าง ไม่มากก็น้อย . . ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่านหนังสือครับ

bottom of page