- ผู้เขียน: Yasunari Kawabata
- ผู้แปล: อมราวดี
- สำนักพิมพ์: นาคร
- จำนวนหน้า: 344 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 5 — ตุลาคม 2557
- ISBN: 9786167184371
เสียงแห่งขุนเขา
วรรณกรรมเอกแห่งเอเซีย-รางวัลโนเบลปี 1968 The Sound of the Mountain อมตะนิยายซึ่งประกาศความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมแห่งโลกตะวันออก “เสียงแห่งขุนเขา” เล่มนี้ นับเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของคาวาบาตะ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คาวาบาตะเริ่มเขียนเรื่องนี้ในปี 1949 หลังจากว่างเว้นจากงานเขียนไปนานในช่วงสงครามและเสร็จสิ้นตอนสุดท้ายในปี 1954 นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
รูปลักษณ์ของสงครามซึ่งปรากฏในนวนิยายของคาวาบาตะ โดยเฉพาะ “เสียงแห่งขุนเขา” เล่มนี้ ผิดแปลกแตกต่างไปจากที่ซึ่งเคยปรากฏในงานเขียนของนักเขียนคนอื่นไม่ว่าจะเป็นนักเขียนในดินแดนเดียวกันหรือจากภูมิภาคอื่นๆ ด้วยความถนัดในการเดินเรื่องผ่านอารมณ์ คาวาบาตะเลือกให้รูปลักษณ์ของสงครามปรากฏเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังฉากแห่งอารมณ์อีกชั้นหนึ่ง คล้ายต้องการบอกให้รู้ว่า สิ่งสำคัญซึ่งควรใคร่ครวญถึงในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ภาพเหตุการณ์ซึ่งล่วงผ่านไปแล้ว ที่ต้องใคร่ครวญถึงก็คือผลซึ่งจะตามมามากกว่า ซึ่งโดยลักษณะส่วนตัวของคาวาบาตะเอง แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ตีโพยตีพายกับมัน เพราะนั่นเป็นสิ่งซึ่งได้เกิดขึ้นและต้องยอมรับ คาวาบาตะเชื่อว่าเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นญี่ปุ่น เขาเคยกล่าวไว้ว่าคนญี่ปุ่นจะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความพินาศและสิ้นหวังเหมือนอย่างผู้คนในตะวันตก แต่คุณลักษณะนิสัยของชาวญี่ปุ่นนั้นเลือกที่จะก้มหน้ายอมรับอยู่ในความเหงาเศร้าและหดหู่
คาวาบาตะแสดงให้เห็นถึงผลของสงครามซึ่งได้กระทำต่อจิตใจ การล่มสลายหรือแปรเปลี่ยนในบางสิ่งบางอย่าง การสูญสิ้นไปของจารีตประเพณีบางข้อ รวมกระทั่งการล่มสลายของจริยธรรม สิ่งเหล่านี้คือความหายนะมากมายมหาศาลกว่าที่เกิดกับวัตถุ แต่ทว่าคาวาบาตะก็ไม่ได้ชักนำไปสู่การมองโลกในแง่ร้าย แม้ตัวละครของเขาจะครุ่นคิดวนเวียนอยู่กับสัญญาณแห่งความตาย แต่ที่สุดแล้วเขาก็ยังเห็นว่า การตายของสิ่งหนึ่งก็เพื่อให้กำเนิดสิ่งใหม่ ยุคเก่าล่มสลายไปก็เพื่อปลดปล่อยสายโซ่พันธนาการแห่งยุคให้เกิดยุคใหม่ขึ้นมา แล้วชีวิตก็จักหยัดหน้าอยู่สู้ต่อไปตามยุคสมัยซึ่งควรจะเป็น
คาวาบาตะเลือกที่จะใช้วิธีการดำเนินเรื่องตามแบบอย่างของนิทานเง็นจิ กอปรกับการใช้ภาษาบรรยายอันละเมียดละไม ดิ่งลึกลงไปในอารมณ์ ซึ่งประยุกต์ขึ้นมาจากท่วงทำนองของบทกวีไฮกุ ทำให้ “เสียงแห่งขุนเขา” กลายเป็นนวนิยายซึ่งแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอันเต็มเปี่ยมด้วยพลัง พร้อมที่จะกระชากจิตใจผู้อ่านให้วูบไหวสะท้านตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่ “เสียงแห่งขุนเขา” จักเป็นหนึ่งในนวนิยายแห่งโลกตะวันออกซึ่งมีอยู่เพียงน้อยชิ้นที่โลกตะวันตกจำต้องค้อมคารวะ