"หนังสือ" ยืนที่ไหนในภาวะสงคราม - รุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง
top of page

"หนังสือ" ยืนที่ไหนในภาวะสงคราม - รุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง


ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนจากสังคมโลกในปัจจุบัน ทั้งความเสี่ยงที่ผู้คนต่างกลัวว่า จะก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีซีเรียของสหรัฐอเมริกา หรือการที่สหรัฐอเมริกาเจ้าเดิมส่งเรือรบไปสังเกตการณ์เกาหลีเหนือ (จนอาจจะเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามเกาหลีขึ้นมาอีกครั้ง)

ด้วยเหตุนี้ ผมจะขอพูดถึงจุดยืนของ "(วงการ) หนังสือ" ในสภาวะเช่นนี้ โดยจะแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ หนังสือ นักเขียน และร้านหนังสือ

ปล.เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น

 

หนังสือ

หนังสือ (และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นน้อยสุดในภาวะสงคราม (ถ้าไม่นับคัมภีร์ ไบเบิลหรือหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล) แน่นอนว่ายุคแห่งสงครามจะนำมาซึ่งความอดอยาก สภาวะข้าวยากหมกแพง และเนื่องจากหนังสือไม่ใช่หนึ่งในปัจจัยสี่ ย่อมไม่มีความสำคัญและจำเป็นใด ๆ ในสถานการณ์นี้

หากอ้างอิงจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุดิบหลักในการทำหนังสืออย่าง "กระดาษ" จะมีราคาที่แพงขึ้น ทำให้หนังสือขึ้นราคา ทั้งยังส่งผลให้หนังสือพิมพ์บางหัวต้องปิดตัวลงไป แต่สิ่งที่มีอย่างแพร่หลายกลับเป็นวรรณคดีสาร ด้วยเหตุนี้บทร้อยกรองส่วนใหญ่ในสมัยนี้จึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของนโยบายรัฐเท่านั้น

ถ้าหากเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน สมมติว่าเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นจริง ๆ คอนเทนต์ออนไลน์คงจะแพร่หลายและรุ่งถึงขีดสุด แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปิดกั้นช่องทางการสื่อสารแค่ไหนก็ตาม ในขณะที่หนังสือจะมีจำนวนการผลิตที่น้อยลง เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ถึงกระนั้น งานที่ตีพิมพ์ออกมา น่าจะมีการนำวรรณกรรมคลาสสิคเก่า ๆ มาพิมพ์ซ้ำใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานที่ออกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

 

นักเขียน

"นักเขียน" อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคสงคราม ไม่ต่างจากนักการเมืองหรือนายพลทหารเลย โดยเฉพาะนักเขียนที่มีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมาก เพราะเขาหรือเธอสามารถเป็นแกนนำผู้ปลุกระดมความคิดอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้นในวงกว้างได้

เป็นที่น่าแปลกใจและน่าสนใจว่า ในสภาวะที่วงการหนังสืออยู่ในจุดต่ำสุดเช่นนี้ นักคิดนักเขียนกลับมีพื้นที่ให้ยืนในแบบที่ชัดเจนยิ่งกว่ายุครุ่งเรือง ถึงแม้ว่าวรรณคดีเพื่อชีวิตหรือแนววิพากษ์สังคมจะถูกกีดกันและไม่ได้รับอนุญาตให้วิพากา์วจารณ์รัฐ หรือเผยแพร่แนวความคิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้น ในกรณีนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ต้องถูกจำคุกเพราะไปเขียนนวนิยายสะท้อนปัญหาสังคมในสมัยนั้นนั่นเอง

แต่วรรรกรรมสายบันเทิงคดีกลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะผู้คนต่างพยายามหาทางหลีกหนีความเป็นจริงทที่เลวร้าย และนำพยายามนำพาตัวเองไปสู่ดลกแห่งความฝัน

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของนักเขียนในสภาวะสงครามก็คือ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักเขียนชาวสหรัฐ ด้วยประสบการณ์ที่เขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสงครามในฐานะผู้สื่อข่าว วรรณกรรมของเขานั้นเป็นไปในรูปแบบสะท้องสังคม แต่ก็ไม่ได้วิพากษ์โดยตรง หากแต่ใช้วิธีการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า เช่นวรรณกรรมเรื่อง เฒ่าผจญทะเล ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเชอร์

จึงเห็นได้ว่านักเขียนมีบทบาทสำคัญในวิกฤติการเมืองขนาดไหน ถ้าเปรียบในยุคปัจจุบัน นักเขียนอย่างเจ.เค.โรลลิ่ง, สตีเฟ่น คิง หรือจอร์จ มาร์ติน ดูแล้วมีอิทธิพลต่อความคิดผู้คนสูงอยู่ไม่ใช่น้อย ถ้าเทียบในฝั่งเอเชีย นักเขียนอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะมีอิทธิพลต่อผู้คนขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่ออกแนวฮิปสเตอร์หน่อย ๆ

ถ้ามองดูที่ประเทศไทย เรามีนักเขียนจำนวนไม่น้อยเลยที่ออกแนวเป็นผู้นำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็น นิ้วกลม, ปราบบดา หยุ่น, วินทร์ เลียววาริณ หรือภิญโญ ไตรสุริยธรรม

 

ร้านหนังสือ

เป็นที่น่าเสียดายว่า ร้านหนังสืออาจจะไปได้ไม่สวยในสภาวะสงครามเท่าใดนัก เมื่อหนังสือราคาแพงขึ้น และเงินทองเป็นสิ่งจำเป็น ไม่มีทางเลยที่กิจการร้านขายหนังสือจะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี แม้กระทั่งผู้จัดจำหน่ายที่มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ในช่วงสงครามโลก โรงพิมพ์เหล่านั้นจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงงานผลิตอาวุธเสียส่วนหนึ่ง ไม่ก็จะต้องพิมพ์สิ่งพิมพ์ของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง

ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูจะพบว่า มีร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง และร้านหนังสือที่ยังคงอยู่รอดจนถึงปัจจุบันที่ดำเนินการผ่านร้อนผ่านหนาวในยุคสงครามมาได้ก็มีจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้น

 

เขาว่ากันว่า "ฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอ" และนั่นอาจจะเป็นเพียงข้อดีข้อเดียวในสงคราม

เพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามหรือวิกฤติใด ๆ มักจะนำพามาซึ่งยุครุ่งโรจน์ของบางสิ่ง และ หนังสือ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

bottom of page