บางครั้ง
เราให้ความสำคัญกับ “ความทรงจำ” มากเกินไป
จนมันบดบังความงดงามและความสำคัญ ของ “การลืม”
คาสิโอะ อิชิงุโระ กำลังเตือนทุกคน
ผ่านตัวละครสองตายาย ที่ออกตามหาลูกชาย
ท่าม กลาง พายุ แห่ง การ ลืม เลือน
เมื่อปี 2015 ผมอ่าน the guardian คอลัมน์วรรณกรรมผ่านตา เหลือบไปเห็นบทวิจารณ์พาดหัวว่า The Buried Giant review – Kazuo Ishiguro ventures into Tolkien territory อ้าว ... ลุงคาสึโอะ หันมาเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีเหรอเนี่ย?
ย้อนกลับไปตอนนั้นก่อน ผมรู้จักคาสึโอะในผลงาน Never let me go กับ The remains of the day (ฉบับภาษาไทยคือ แผลลึกหัวใจสลาย กับ เถ้าถ่านแห่งวารวัน) ก่อนที่แกจะได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม งานของคุณคาสึโอะ ถ้าจะถามผม มันอยู่ในหมวด Melancholy คือนำเสนอความสวยงามแบบเทาๆของความเศร้า (จริงๆ Melancholy ใช้เป็นชื่อโรคซึมเศร้าสมัยก่อนด้วยครับ)
พอเห็นบทวิจารณ์พาดหัวมาแบบนั้น ไม่ใช่แค่ the guardian นะครับ the dailymail เองก็พาดหัวสไตล์นั้นเหมือนกัน มันก็เลยทำให้ผมถูกสะกดจิตฝังหัวว่า แ (ยักษ์ใต้พิภพ) เป็นผลงานแฟนตาซีของคุณคาสึโอะ ตอนได้รับฉบับภาษาไทยมาอ่าน ก็อ่นาด้วย mind set ที่ว่า เรากำลังอ่านนิยายแฟนตาซี ผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลนะ
ในครั้งแรกของการอ่าน ... ไม่สนุกเลย
ดำเนินเรื่องเอื่อยเฉื่อย อะไรก็ไม่รู้ เหมือนจะบอกธีมของเรื่องทั้งหมด แก่นเรื่องทุกอย่าง ไว้ในการอรรถาธิบายร่ายยาวในบทที่ 1 และทิ้งให้คนอ่านทรมานทรกรรมกับตัวหนังสือแน่นเอี้ยดที่หาช่องว่างให้หายใจแทบไม่ได้ จนกระทั่งจบเล่ม
ผมหยุดอ่านไปในบทที่ 2 แล้วกลับมานั่งทบทวนงานของคาสึโอะ ...
เขาเป็นนักเขียนสาย Melancholy ในทุกเล่มของเขา ความงามของ melancholy ถูกนำเสนอออกมาในรูปของตัวอักษรเปรียบเปรยนามธรรมจับมาขึ้นรูปเป็นเหตุการณ์รูปธรรม เพื่อให้เราเสพความงามโดยจินตนาการในหัวแทนที่จะใช้ตารับสัมผัสนั้น
เป็นไปได้ไหมที่ ยักษ์ใต้พิภพ ก็เป็น Melancholy novel อีกเล่ม ที่นำเสนอในรูปแบบของแฟนตาซีหุ้มเปลือก ? ผมกลับมาหยิบมันอ่านใหม่อีกครั้ง และครั้งนี้ ผมค่อยๆมองหาสัญลักษณ์ และการนำเสนอ clue บางอย่างที่ซ่อนไว้ในเล่ม
คาสึโอะ ยังคงเป็นนักเขียนสาย Melancholy เสมอ เพียงแค่เขานำเสนอความงามของ melancholy ในรูปเปลือกของอะไรแค่นั้น
แอกเซิล และ เบียทริซ เป็นตายายคู่หนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านชนบทอังกฤษในยุคหลังสงครามแซกซอน สงครามผ่านไปแล้ว แต่ทิ้งความสูญเสียไว้มากมาย เพราะเหตุผลกลใดอันเหนือธรรมชาติสักอย่าง ผู้คนในหมู่บ้านพากันหลงลืมอะไรง่ายๆ สิ่งที่แอกเซิล กับเบียทริซจำได้คือ ทั้งสองคน มีลูกชาย
ด้วยเหตุผลปุบปับ สองตายายตัดสินใจ ทิ้งหมู่บ้านออกเดินทางไปหาลูกชาย ที่เขาสองคนก็จำไม่ได้ว่าทำไมลูกชายถึงแยกบ้านออกไปอยู่ไกลๆ ทำไมพวกเขาสองคนถึงเพิ่งคิดได้ว่าจะไปหาลูกชาย แม้กระทั่งทางเดินไปหมู่บ้านลูกชาย สองคนนี้ก็จำไม่ได้ ... คำว่าทำไมลอยฟุ้งไปทั่วในหนังสือ
จนกระทั่งอ่านมาถึงบทที่สอง ที่ สองตายายเจอกับคนแจวเรือนั่นล่ะ ผมถึงได้ร้องอ้อ แล้วหลังจากนั้น การอ่านวรรณกรรม Melancholy เล่มนี้ก็พลันมีสีสัน และชวนติดตามจนกระทั่งจบเล่ม มีการหักมุม มีการหักหลังคนอ่านชนิดที่คาดเดาได้บ้าง คาดเดาผิดบ้างก็เยอะ
ต้องบอกว่า คาสึโอะ ยังคงเป็นนักเขียนสาย Melancholy เสมอ เพียงแค่เขานำเสนอความงามของ melancholy ในรูปเปลือกของอะไรแค่นั้น นิยายรัก หรือนิยายแฟนตาซีที่คล้ายนิทาน เล่าความงาม ของการหลงลืม ในชีวิตหลังความตาย ... อุ๊บ :) ผมคิดว่าผมคงไม่ได้เผลอสปอยล์อะไรออกไปนะ ทำเป็นอ่านข้ามๆไปก็ได้
แต่ ... ใช่ว่าจะมีแต่ส่วนดี
อรรถรสของคาสึโอะ ไม่ได้อยู่ที่เพียงความงามสาย melancholy เท่านั้น หากแต่นำเสนอความงานของภาษาในระดับขั้นสุดด้วย (แหงล่ะ เขาเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลนะคุณ จะให้ใช้ภาษาบ้านๆก็กระไร) แรกเขียน เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ความงามมันสอดอยู่ในนั้นอย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่า เมื่อนำมาแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ความงดงามของภาษาที่ใช้ อาจจะย่อหย่อนลงไปบ้าง ทำให้เสพได้ไม่ครบรส
แต่เชื่อเถอะ ถึงจะพร่องลงไป ก็ไม่น้อยไปมากหรอก :)
โดยส่วนตัวผมแนะนำให้อ่านนะ แต่อยากให้รู้จักคาสึโอะสักนิดก่อนอ่าน และให้ทิ้งภาพของนิยายแฟนตาซีจำพวกไตรภาคของปู่โทรคีน หรือของลุงมาร์ตินออกไปเสีย แล้วอ่านด้วย mind set ที่ว่านี่คือ melancholy novel ที่เสนอความงามของการลืม กับความร้ายกาจของความทรงจำ
Comentarios