[Review] ริสเมทิสต์ - โลกเวทมนตร์ที่ใช้ชอล์กวาดรูปแทนการโบกไม้กายสิทธิ์
top of page

[Review] ริสเมทิสต์ - โลกเวทมนตร์ที่ใช้ชอล์กวาดรูปแทนการโบกไม้กายสิทธิ์


หากพูดนิยายแฟนตาซีแนวเวทมนตร์ คุณจะนึกถึงเรื่องราวแบบใด

แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม้กายสิทธิ์ ร่ายเวทมนตร์คาถา สัตว์วิเศษ หรือหมวกทรงแหลมสูง ๆ

สิ่งเหล่านี้ไม่มีในนิยายเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว


ริสเมทิสต์ เป็นผลงานของแบรนดอน แซนเดอร์สัน ผู้เขียนนิยายไตรภาคชุด The Reckoners เป็นนิยายแนวแฟนตาซีเวทมนตร์ที่รื้อระบบความคิดของเราใหม่ทั้งหมด แซนเดอร์สันมีความเชี่ยวชาญในการสร้างโลกใหม่ในแบบของตัวเองเป็นอย่างมาก ตอนนี้ผมอยากให้คุณนึกถึงโลกเวทมนตร์ที่ไม่มีเวทมนตร์คาถาใด ๆ แต่เป็นการใช้ชอล์กวาดรูปเพื่อสร้างสรรค์เวทมนตร์เหล่านั้นออกมาแทน


ระบบของโลกริสเมทิสต์ คือ โลกที่จะมีคนเพียงไม่กี่คนถูกคัดเลือกให้เป็นริสเมทิสต์ และริสเมทิสต์เหล่านั้นจะสามารถสร้างเวทมนตร์ได้ผ่านการวาดชอล์กบนพื้น ทั้งสร้างปีศาจ อัศวิน และมังกร


แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การวาดชอล์กดังกล่าวมีหลักการของมันว่าต้องวาดเช่นไร มีทั้งวงป้องกัน เส้นยับยั้ง เส้นแห่งอำนาจ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะแยะไปหมด ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถวาดอะไรก็ได้ เหมือนกับการเรียนรู้สูตรคณิตศาสตร์ (ซึ่งอันที่จริง วิชาริสเมทิสต์ก็คือการผนวกพีชคณิตเข้ามาด้วยนั่นล่ะ) แน่นอนว่าเวลาพวกริสเมทิสต์สู้กันก็จะวาดชอล์กใส่กันนั่นเอง

 

ตัวเอกของเรื่องมีชื่อว่า “โจเอล” เขาอยากเป็นริสเมทิสต์มากกว่าใคร แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ถึงกระนั้นเขาก็เป็นคนที่แม่นยำและเก่งเรื่องทฤษฎีการวาดชอล์กกว่าพวกริสเมทิสต์จริง ๆ เสียอีก


สิ่งหนึ่งที่นิยายเรื่องนี้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดก็คือ

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

โจเอลคือตัวแทนของคนที่พยายามตามล่าหาความฝัน แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม และมันก็บอกเราว่า การผิดหวัง ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของคุณต้องไร้ค่าเสมอไป ถ้าหากว่าเราพยายามแล้วอย่างเต็มที่ ถึงจะไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่เราก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว



ปกหนังสือ เวอร์ชั่น สหรัฐอเมริกาที่ขายบน Amazon ดูไม่ได้สื่อถึงเนื้อเรื่องเท่าไหร่ แต่ก็สวยดี
ปกหนังสือ เวอร์ชั่น US

ถึงแม้จะบอกว่ามันเป็นนิยายวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซี แต่มันไม่ได้มีความตื่นเต้นระทึกใจมากเท่านิยายแฟนตาซีผจญภัยเรื่องอื่น เอาเข้าจริง มันมีการดำเนินเรื่องและกลิ่นอายออกไปทางนิยายสืบสวนเสียด้วยซ้ำ ทำให้ประมาณสามในสี่ของเรื่องเราหมดไปกับการทำความเข้าใจและรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ริสเมทิสต์” นี่แหละ ด้วยความที่มีการออกแบบระบบโลกเวทมนตร์ใหม่ จึงต้องใช้สมองคิดและจดจำระบบของโลกนี้พอสมควร


แต่นั่นล่ะคือ ข้อดีของมัน


ถ้าคุณอดทนที่จะอ่านนิยายเรื่องนี้ได้นานพอจนถึง 4 บทสุดท้าย คุณจะรู้สึกสนุกอย่างคาดไม่ถึง

ถ้าเปรียบเทียบเป็นเส้นกราฟ ตลอดทั้งเรื่องจะดำเนินมาแบบนิ่ง ๆ เป็นเส้นตรง ก่อนจะพีคขึ้นจนถึงหน้าสุดท้าย ทั้งยังจบดีได้อย่างน่าประทับใจ เหมาะกับคนที่ต้องการแรงบันดาลใจหรือค้นหาตัวตนของตนเองอะไรทำนองนั้น


หากใครต้องการสัมผัสนิยายที่มีขนบและเนื้อหาใหม่ ๆ “ริสเมทิสต์” ก็อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ไม่เลวเช่นกัน


ปล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบก็คือ โลกเวทมนตร์ในเรื่องนี้เป็นโลกที่ซ้อนทับกับโลกของเรา โดยสถานที่ในเรื่องเป็นหมู่เกาะแห่งหนึ่งที่ถูกค้นพบภายหลังนอกเหนือจากแผนที่ที่เรารู้จัก (ไม่ได้ระบุว่าอยู่ตรงไหน) มีการล้อประวัติศาสตร์ ประมาณสมมติว่า โลกนี้จักรวรรดิโชซอน (เกาหลี) เรืองอำนาจ ไม่ได้ถูกญี่ปุ่นยึดครองไปดังเช่นที่เกิดขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20

(ภาพข้างล่างคือแผนที่ในเล่ม)


bottom of page