top of page

[รีวิว] อีเมลลับฉบับไซมอน - คนไม่รู้ว่าผมเป็นเกย์

“ฉันรู้นะว่านายเป็น....”

“ฉันเป็นอะไร?”

“เอ่อ... เป็นแบบนั้นน่ะ”

“นี่นายเปิดอ่านอีเมล์ฉันใช่ไหม?”

“เอ่อ ... ฉันไม่ได้มีเจตนาไม่ดีนะเว้ย ฉันแค่จะบอกว่าพี่ชายฉันก็เป็นเหมือนกัน ถ้านายอยากจะรู้จัก ฉันแนะนำให้ได้นะ”

“ไม่ล่ะ ฉันไม่อยาก”

“งั้น... นายคงไม่อยากให้ความลับมันแพร่งพรายออกไปใช่ไหม ช่วยฉันทีสิ ช่วยให้ฉันกับแอ๊บบี้ได้ใกล้ชิดกันหน่อยสิ นายเป็นเพื่อนสนิทแอ๊บบี้นี่นา”

“นี่นายกำลัง balckmail ฉัน???”

“เอ่อ... อย่ามองอย่างนั้นสิ มันแค่ช่วยเหลือเพื่อน”

 


รีวิว โดย หมอตุ๊ด อุเทน บุญอรณะ


Love, Simon หรือชื่อเดิม Simon vs The homo sapiens agenda เปิดตัวบทแรกด้วยบทสนทนาของไซม่อนกับมาร์ตินในล๊อกเกอร์ ไซม่อนลืมล๊อกเอาท์อีเมล์ตัวเองบนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน มาร์ตินไปแอบเห็นอีเมล์ที่ไซม่อนคุยกับ “บลู” หนุ่มปริศนา จึงรู้ว่าไซม่อนเป็นเกย์ จึงเอาความลับนี้มาแบล็คเมล์ไซม่อน หวังหาทางใกล้ชิดกับแอบบี้เพื่อนสาวคนสนิทชมรมละครเวทีที่ไซม่อนสังกัด


เคยมีคนพูดกับผมว่า อย่าให้ผู้หญิงเขียนนิยายวาย เพราะมันจะฟุ้งจนกลายเป็น cotton candy ผมเคยเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พยายามหาข้อโต้แย้งคำพูดนี้ แต่เหล่านักเขียนสาวสายวายก็กระหน่ำทำผมผิดหวังมาโดยตลอด และแน่นอนครั้งนี้ Becky Alberlli ผู้เขียหนังสือเล่มนี้ ก็ทำผมผิดหวังอีกคำรบหนึ่ง

นิยายเล่มนี้นำเสนอประเด็นที่ดีหลายๆประเด็น ทั้งการปิดบังตัวตน สังคมเด็กมัธยมปลาย การเหยียดเกย์ ความสัมพันธ์ของเด็กเกย์กับครอบครัว และมุมมองการเลือกทางเดินในอนาคต ซึ่งผมมองว่าแม้มันจะเชยไปบ้างเรื่องการเหยียดเกย์ การปิดบังตัวตน (เพราะสมัยนี้มันไม่ใช่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว) แต่มันเป็นเรื่องที่ถ้าใช้เวลากับหน้ากระดาษกับมันเยอะๆ นี่จะเป็นนิยายคว้ารางวัลได้เลยทีเดียว เป็นประเด็นที่น่าเล่นมากกว่าเรื่อง รักๆ ผิดหวัง ของวัยรุ่นมัธยมมากมายนัก


แต่เนื่องจากมันเป็น “หลายๆ”ประเด็น จึงทำให้เนื้อที่ 300 หน้าน้อยเกินไปที่จะนำพาทุกประเด็นไปถึงบทสรุปที่สุดทาง ท้ายที่สุดผู้เขียนก็ทำได้เพียงจบประเด็นอื่นๆที่ดีไว้กลางทางแบบลวกๆ และนำพาเฉพาะประเด็น “สมหวังในความรักวัยเรียน” ให้จบแบบที่เธอคิดว่าสุขสมที่สุด


จุดแข็งข้อดีของเรื่องคือ ตัวพระเอก ไซม่อนเองนั่นล่ะ แม้เขาจะแน่ใจในเพศนิยมของตน แต่กลับไม่แน่ใจเรื่องความรู้สึก ว่ากับชายแปลกหน้าที่คุยด้วยเขารู้สึกรักคนคนนั้นจริงๆ หรือรักจินตนาการถึงคนคนนั้นกันแน่ เห็นได้จากเขาพยายามหาหลักฐานเชื่อมโยงระหว่าง “บลู” หนุ่มปริศนาในอีเมล์ กับเพื่อนชายคนหนึ่งในชมรมการแสดง และพยายามเชื่อว่านั่นแหละ คือคนคนเดียวกัน


คนเขียนลำดับความว้าวุ่นของวัยรุ่นได้ดีกว่านิยายไทย ที่ส่วนใหญ่มักจะเขียนว่าชอบใครก่อน แล้วก็เริ่มสับสนเพศลักษณ์ เพศนิยมของตนทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วในเชิงจิตวิทยา เราจะให้ความสำคัญกับตัวเราก่อนเสมอ ก่อนที่จะเริ่มไปมองคนอื่น อย่างเช่นเด็กตุ๊ดส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นตุ๊ดก่อนที่จะรู้สึกชอบผู้ชายเสียอีก


เสน่ห์อีกอย่างคือ กลิ่นอายของปี 1990 - 2000 ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้มาก แม้คนเขียนจะพยายามใส่ประเด็น social network ไว้บ้างกันไม่ให้มันเชย (Tumbler ไม่พูดถึง Facebook เลย) แต่การติดต่อด้วยโทรศัพท์ เลิกเรียนไปเล่นบาส ทำกิจกรรม ฟังเพลงนัดทำงานรวมกลุ่มในร้านไดน์นิ่งไม่ใช่ร้านกาแฟ มันทำให้นึกถึงโลกในยุคก่อนปี 2000 ซึ่งคนเขียนทำได้ดีมากในจุดนี้ ไม่มากไม่น้อย ไม่มีการพูดถึง แต่ทำให้รู้สึกได้แทน น้อยคนที่จะทำได้ หากไม่เคยอยู่ในยุคนั้นและอินกับมันจริงๆ และทำให้คนอ่านในวัยยี่สิบปลายสามสิบต้นอินได้ไม่ยาก


แต่นั่นนับเป็นจุดอ่อนอีกเช่นกัน เพราะแนวทางที่เขียนนั้นเน้นจับเด็กวัยรุ่นเสียมากกว่า (เพราะเน้นประเด็นความรักเยอะกว่าประเด็นชีวิต ครอบครัว การมองโลก) เด็กวัยรุ่นที่อ่านจะไม่อินกับโลกในยุคก่อนปี 2000 เท่าไรนัก นี่จึงนับเป็นความเสี่ยงใช่น้อยเมื่อสร้างโลกในหนังสือให้เป็นแบบนั้น



ความไม่สมเหตุสมผลเป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งที่เห็นได้ชัด ความรู้สึกรักชอบ ความผูกพันอย่างไม่มีที่มาที่ไป ทำไมจู่ๆไซม่อนหลงรักบลู แล้วทำไมไซม่อนถึงตัดใจจากเพื่อนร่วมชมรมได้ แล้วทำไมพอเจอกับบลูตัวจริงปุ๊ปแล้วชอบทันที แล้วทำไมบลูตัวจริงที่อยู่ใกล้ๆไซม่อนมานานแสนนานไม่ยื่นมามาช่วยตอนไซม่อนวิกฤต ทั้งๆที่ตัวเองก็บอกว่าหลงรักไซม่อนและไม่อยากให้ไซม่อนต้องเจ็บ


เหตุผลอาจจะเป็นเพราะจังหวะในการดำเนินเรื่องมันไม่เอื้อให้ตัวละครโผล่ออกมาตอนนั้นได้ แต่ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ควรจะมีเรื่องราวแทรกมานิดนึงว่า “ทำไม” หรือไม่ก็ปรับโดยการตัดเรื่องที่บลูตัวจริงอยู่ใกล้ๆไซม่อนและเห็นเขาทนเจ็บใจออกไปก็ได้ เพราะมันทำให้ไม่สมจริงเอาเสียเลย คนอ่านได้แต่อ่านแล้วตั้งคำถามไปมา แทนที่จะได้ซาบซึ้งกับความรักของหนุ่มมัธยมสองคน กับมีแต่เครื่องหมายคำถามลอยไปลอยมาเต็มหัว


จริงๆแล้วในการเขียนหนังสือมันไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างจังหวะดำเนินเรื่องกับความสมเหตุสมผล มันสามารถปรับเข้าหากันให้มันราบรื่นได้ นี่คือทักษะที่ “นักเขียนมืออาชีพ” ต่างกับ “คนเขียนหนังสือเป็น” และเชื่อว่านักเขียน นักอยากเขียน ทุกคนจะต้องเจอเรื่องนี้เสมอ


สุดท้ายแล้ว Simon vs The homo sapiens agenda ก็เป็นเพียงนิยายรักวัยรุ่นธรรมดาๆ ที่เปิดตัวด้วยประเด็นที่น่าสนใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ โครงเรื่องก็ไม่แตกต่างกับนิยายวายดาษๆทั่วไปเล่มอื่นๆ ไร้สิ่งน่าจดจำ และทุกอย่างกลับจบได้ภายใน 1.6 หน้ากระดาษพอคเก็ตบุ๊ค แม้จะอ่านจนจบรวมถึงไปอ่านคำนำจากผู้เขียนแล้ว ก็ยังคงไม่เข้าใจความคิดของตัวละครทั้งหมดในเล่ม ... และแน่นอน รวมถึงความคิดของคนเขียนด้วย



ทุกคนสามารถหาอ่าน อีเมล์ลับฉบับไซม่อน ได้ที่ paperyard.co/product-page/9786167936338

Komentarai


bottom of page