[Review] Faulkner – กุหลาบแด่เอมิลี และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ
top of page

[Review] Faulkner - กุหลาบแด่เอมิลี และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ


A Rose for Emily and other selected short stories.

กุหลาบแด่เอมิลี และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ

ผลงานของ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

เมื่อมิสเอมิลี เกรียร์สันตาย พวกเราทั้งเมืองไปงานศพเธอ พวกผู้ชายไปด้วยความเคารพรักที่มีต่ออนุสรณ์อันปลดปลง พวกผู้หญิงส่วนใหญ่ไปเพราะอยากเห็นภายในบ้านของเธอ ซึ่งไม่เคยมีใครได้เห็นมานานอย่างน้อยก็สิบปีแล้ว ยกเว้นชายรับใช้เก่าแก่ที่รับหน้าที่ทั้งคนสวนและพ่อครัว

คุณเป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่กำลังจะเดินทางไปเยี่ยมคุณตาที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ คุณชอบคุณตาและเรื่องเล่าของเขา ทุกครั้งที่คุณไปเยี่ยมคุณตา คุณก็จะได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตอนที่คุณตายังเด็ก เรื่องสืบสวนระทึกขวัญ หรือเรื่องเล่าที่คุณไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่ถึงอย่างไร คุณก็ชอบที่จะฟังมัน

“แกมันไอ้พวกพิศวาสนิโกร”

 

“กุหลาบแด่เอมิลี และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ” เป็นชุดรวมเรื่องสั้นของนักเขียนชาวอเมริกันตอนใต้ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1897-1962 ทั้งชีวิตของเขาผูกพันอยู่กับสภาพแวดล้อมบ้านเกิดทางตอนใต้ ที่ซึ่งมีประวัติความเป็นมาในเรื่องการเข่นฆ่าและใช้แรงงานทาส จึงไม่แปลกที่งานเขียนของโฟล์คเนอร์จะสะท้อนความขัดแย้ง ความอยุติธรรม และความรู้สึกผิดบาปต่อการกระทำของบรรพบุรุษของเขาที่มีต่อทาสและคนผิวสี โดยหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 5 เรื่อง ได้แก่ ความเป็นธรรม (The Justice), อาทิตย์ยามสายัณห์ (That Evening Sun), กุหลาบแด่เอมิลี (A Rose for Emily), กันยาแล้ง (Dry September), และ จมลงไป โมเสส (Go Down, Moses)

“คุนจะเห็นสิ่งที่คุนจะได้เห็น ชั้นว่า” แนนซีพูด “มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าคุณจะเห็นอะไร”

เรื่องสั้นของโฟล์คเนอร์เป็นเหมือนกับตัวแทนผลงานบางส่วนของเขา ที่จะทำให้คุณรู้จักกับเขามากขึ้น โฟล์คเนอร์รักตัวละครและจักรวาลของเขา เขามักจะใช้ตัวละครเดิมๆ ไปโผล่ในเรื่องนี้บ้าง เรื่องนั้นบ้าง ดังนั้น มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ที่คุณจะเริ่มรู้จักตัวละครต่างๆ ผ่านการแนะนำตัวสั้นๆ จากเรื่องสั้นทั้งห้าเรื่องนี้

ยกตัวอย่างเช่น “ความเป็นธรรม” และ “อาทิตย์ยามสายัณห์” ที่เป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของเควนติน คอมป์สัน ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นตัวละครสำคัญในนวนิยายเรื่อง The Sound and the Fury และ Absalom, Absalom! โดยเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เขาพบเห็นในวัยเด็ก ที่ ณ ตอนนั้นเขาไม่อาจทำความเข้าใจได้จนกระทั่งเขาโตขึ้น ในเรื่อง “ความเป็นธรรม” จะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน คนผิวขาว หรือคนผิวดำ “อาทิตย์ยามสายัณห์” แสดงถึงปัญหาในครอบครัวที่เป็นผลเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย

“กุหลาบแด่เอมิลี” ถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่คนอ่านมักจะคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ หากพูดถึงวิลเลียม โฟล์คเนอร์ เนื่องด้วยเป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวอเมริกันตอนใต้ได้อย่างดี ผนวกกับการเล่าเรื่องแนวสืบสวนผสมกับบรรยากาศขวัญผวาแบบนิยายกอธิก โดยเรื่องนี้เปิดเรื่องที่การตายของมิสเอมิลี ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างเป็นปริศนาอยู่ในบ้านหลังใหญ่เพียงลำพัง การตายที่ไม่ใช่จุดจบ แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาพวกเราไปสู่ความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ในบ้านหลังนั้น

“กันยาแล้ง” เป็นเรื่องที่ว่าด้วยเกียรติของสุภาพสตรีผิวขาว ที่ชาวเมืองต่างต้องการที่จะปกปักรักษา จนลืมคำนึงถึงสิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาสัญลักษณ์นี้ และในเรื่องสุดท้าย “จมลงไป โมเสส” กล่าวถึงธรรมเนียมของสุภาพบุรุษ เมื่อทนายความ กาวิน สตีเวนส์ ต้องจัดการทำเรื่องขนย้ายศพลูกหลานคนดำกลับคืนสู่บ้านเกิด ที่ไม่ได้เพียงสร้างความลำบากให้แก่เขา แต่รวมถึงคนทั้งเมืองที่ต้องมามีส่วนร่วมด้วย

 

เรื่องมีเท่านี้เอง ตอนนั้นผมอายุเพียงสิบสองขวบ และผมต้องรอจนกว่าจะผ่าน ทะลุ แล้วพ้นแสงอัสดงอันอ้อยอิ่งไปแล้ว ผมถึงจะรู้ว่าตัวเองจะรู้ แต่ถึงตอนนั้นแซม ฟาเธอร์สก็คงตายไปแล้ว

การอ่านเรื่องสั้นของโฟล์คเนอร์ “กุหลาบแด่เอมิลี และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ” เป็นเหมือนกับการนั่งฟังเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมานานแสนนานแล้ว เราเป็นเด็กน้อยที่ฟังเรื่องเล่าที่เป็นความลับของผู้ใหญ่ เราเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง และเมื่อถึงตอนจบ เราอาจเกิดคำถามขึ้นในใจ และในบางที เราไม่อาจสรุปเรื่องราวออกมาได้ เหมือนกับตอนที่คุณปู่ถามเควนตันว่า

“หลานกับแซมคุยอะไรกัน”

“ไม่เป็นเรื่องครับ” ผมตอบ “เราคุยกันเฉยๆ”

แต่คุณรู้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องไม่เป็นเรื่อง...

bottom of page