[Review] "บรรพบุรุษของพวกเจ้า เขาอยู่ไหนเสีย แล้วบรรดาศาสดาพยากรณ์เล่า
top of page

[Review] "บรรพบุรุษของพวกเจ้า เขาอยู่ไหนเสีย แล้วบรรดาศาสดาพยากรณ์เล่า เขามีชีวิตเป็นนิรันดร์หร

เคยอ่านแต่เรื่องราวดีๆของคนบ้า

นี่เป็นครั้งแรกที่อ่านเรื่องราวบ้าๆของคนบ้า

และมันเป็นเรื่องราวบ้าๆ ของคนบ้า ที่ดีมากๆ

 

“บรรพบุรุษของพวกเจ้า เขาอยู่ไหนเสีย แล้วบรรดาศาสดาพยากรณ์เล่า เขามีวิชิตเป็นนิรันดร์หรือ” ( Your Fathers , where are they? And the prophets , do they live forever? ) เป็นนวนิยายแปลชื่อโคตรยาวของ เดฟ เอกเกอร์ส (นักเขียนเจ้าของผลงาน A hologram for the king ที่เป็นภาพยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว และ The circle ที่กำลังจ่อคิวรอเข้าฉาย)

เอกเกอร์สพูดไว้ในท้ายเล่มว่าต้นฉบับนวนิยายเล่มนี้ เขาเริ่มจัดทำตั้งแต่ก่อนจะเขียนเรื่อง The Circle เสียอีก แต่เขาวางมันไว้อย่างนั้นเพื่อให้นวนิยายเล่มนี้จัดการตัวมันเองให้สุกงอม และหลังจากที่เขาเขียนเรื่องอื่นจบแล้วกลับมาหยิบจับมันอีกครั้ง เขาพบว่ามันเป็นไปตามนั้นจริงๆ ต้นฉบับมันจัดการตัวเองจนเสร็จสรรพเรียบร้อยจนเขาไม่ต้องทำอะไรอีก เพียงแค่ส่งมันไปยังสำนักพิมพ์แล้วรอเท่านั้น

ผมคิดเยอะมากนะกับการจะเขียนรีวิวนิยายฉบับนี้ ว่าจะเขียนอย่างไรไม่ให้สปอยล์เนื้อหาในนั้น แม้มันจะไม่ใช่นิยายลึกลับที่มีบท plot twist ในเล่ม แต่ทุกรายละเอียดเล็กน้อย แม้เพียงแค่คำพูดบางคำพูด มันสื่อความหมายในตัวเอกมากจริงๆ ขออภัยด้วยหากจำเป็นต้องพูดอ้างอิงเนื้อหาบางอย่าง แต่จะทำอย่างระมัดระวังที่สุด

 

โธมัส ชายหนุ่มวัย 34 (กว่าจะรู้ชื่อเขาก็ปาไปหลายหน้า และกว่าจะรู้อายุเขาก็ปาไปหลายบทเลยทีเดียว แต่เชื่อเถอะว่ามันสำคัญ) เริ่มต้นเรื่องราวของเขาด้วยการผิดหวังในสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นนำไปสู่คำถาม คำถามนำไปสู่การหาคำตอบ นี่เป็นวิสัยปกติ เพราะถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นนิยายเรื่องนี้คงไม่ยาวสองร้อยกว่าหน้าหรอก เพราะสำหรับโธมัส คำถามนำไปสู่การ ลัก พา ตัว และ ลักพาตัว และ ลักพาตัว ๆ ๆ (เอคโค่)

ข้อความระหว่างบรรทัดที่เอกเกอร์สอยากจะสื่อสารกับคนอ่านมีเยอะมากจนผมต้องอ่านไป พักไป คิดไป แล้วกลับมาอ่านใหม่ แม้เนื้อหาจะมีสองร้อยกว่าหน้า แต่ถ้าจะให้เขียนบทเรียนอะไรที่เอกเกอร์สส่งผ่านมา ผมว่าเขียนได้ยาวกว่าสองร้อยหน้าอีก นักวิจารณ์หนังสือค่ายต่าง ๆ ต่างพูดถึงเรื่องการของกระทบกระเทียบสังคม ระบบราชการ ชนชั้นในสังคม ฯลฯ ผมว่าก็จริงนะ แต่ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่เอกเกอร์สเท่าไหร่ หนังสือของเขาไม่เคยเสียดสีสังคม (แน่นอน แม้แต่เรื่อง The circle ก็ตาม) แต่เขากำลังเสียดสีสามัญสำนึกของเราทุกคนต่างหาก ดังนั้นผมมองข้ามประเด็นเสียดสีสังคมง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนคิดถึงไป

สิ่งที่เด่นชัดมากกว่านั้นในหนังสือเล่มนี้คือ ความผิดหวังคือจุดเริ่มต้นของการล้มแถวโดมิโน่ มันง่ายมากที่ความผิดหวังจะนำเราไปสู่การเสียหลัก ล้ม โทษคนอื่น และพานล้มกันเป็นทอดๆ ค้นพบเรื่องที่ผิดหวังใหม่ซ้ำแล้วซ้ำแล้ว และโทษคนอื่นไปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เอกเกอร์สฉลาดในการปั้นตัวเอกอย่างโธมัสให้เป็นคนวิกลจริต เพื่อนำเสนอผลต่อเนื่องของความผิดหวัง (ขอโทษที่จำเป็นต้องบอก แต่เชื่อเถอะ อ่านไปแค่ 4 หน้าคุณก็รู้แล้ว) เพราะหากมองด้วยมุมมองทางจิตวิทยา เวลาคนเราผิดหวัง เรามักจะโทษคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ใช้ปัญญา และสมองส่วนจิตสำนึกชั้นสูงมากลบมันไปเสีย นี่คือวิถีปกติของมนุษย์เรา

แต่อย่างที่บอกไป เนื่องจากโธมัสเป็นคนวิกลจริต เราคาดหวังไม่ได้หรอกว่า เขาจะมีจิตสามัญสำนึกขั้นสูงมายับยั้ง แน่นอน เขาเหมือนคนที่กลิ้งลงทางลาดโดยไม่มีเบรก และไม่มีราวกั้นข้างทาง ดังนั้นเราจะได้เห็นการล้มทับกันของแถวโดมิโน่ยาวเหยียดโดยไม่มีอะไรมาหยุดมันได้ จากการอ่านหนังสือหนาสองร้อยกว่าหน้าเล่มนี้

แต่เอกเกอร์สผู้เขียน ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าโธมัสเป็นคนโง่ ตรงกันข้ามผมรู้สึกตลอดเวลาที่อ่านว่า โธมัสเป็นคนที่ฉลาดมาก แต่กระนั้นแม้จะฉลาดมาก แต่เขากลับทำสิ่งที่พวกเราทุกคนไม่มีวันทำ เวลาที่เราผิดหวัง ตรงนี้ผมว่าผู้เขียนกำลังให้บทเรียนสำคัญกับคนอ่านว่า สติสัมปชัญญะที่ติดตัวเราอยู่ เป็นสิ่งล้ำค่ามากมายเหลือเกิน ตอนที่ผมอ่านไปรู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เป็นแบบโธมัส การดำเนินชีวิตแบบที่ไม่มีสามัญสำนึกขั้นสูง มันเหมือนการทรงตัวบนเส้นเชือกบาง ๆ ที่ด้านหนึ่งความเป็นอัจฉริยะ แต่อีกด้านคือการเป็นอาชญากร และเชื่อเถอะว่ามันเป็นเชือกเส้นบาง ๆ ที่กั้นกลางจริง ๆ

 

บทสนทนาล้วน ๆ

วิธีการนำเสนอของนิยายเล่มนี้เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้ผมอยากอ่าน เอกเกอร์สเลือกที่จะนำเสนอทั้งเล่มด้วยบทสนทนาล้วน ๆ ไม่มีการบรรยายอะไรทั้งสิ้น บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะไม่ชอบ แต่เชื่อเถอะว่า แค่บทสนทนาง่ายๆ แต่มันสร้างภาพจินตนาการในหัวเราได้ดีทีเดียว เอกเกอร์สทำได้ดีจนผมนึกนับถือเลยทีเดียว ส่วนคนที่ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆเยิ่นเย้อ จะยิ่งถูกใจมากขึ้นไปเป็นสองเท่า รับประกัน

ในชีวิตจริง ผมเคยได้ยินมาว่า เด็กเหมือนผ้าขาว เขาบริสุทธิ์ พร้อมที่จะโดนย้อมด้วยสีสันอะไรก็ได้ มันทำให้ผมเกิดคำถามว่า อ้าว... งั้นแสดงว่าถ้าเด็กเกิดแล้วเติบโตโดยที่ไม่มีใครมายุ่ง มาแตะ มาวุ่นวาย มาสอนอะไรเลย ก็แสดงว่าเขาจะยังเป็นผ้าขาวมาจนโตเลยใช่ไหม? จริงเหรอที่คนที่โตมาโดยไม่ได้รับการสั่งสอนอะไรเลย ไม่ได้รับการดูแลอะไรเลยจะเป็นผ้าขาว?

เอกเกอร์สสอนผมด้วยหนังสือเล่มนี้ว่า เด็กกับคนบ้านั้นไม่ต่างกันเลย และเด็กนั้นเหมือนผ้าเลอะต่างหาก ผู้ใหญ่คือคนที่จะมาช่วยซัก ช่วยตากให้แห้ง รีดให้เรียบ และพับมันให้เรียบร้อยไว้ในจุดที่มันสมควรอยู่ ผมว่ากระบวนกการในการเติบโตทางสังคมมันเป็นอย่างนั้น มันกลับกันกับสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจ เอกเกอร์สนำเสนอมันได้อย่างชาญฉลาดและชัดเจนโดยไม่ต้องทำให้เป็นตัวอักษร

โดยรวมหนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกคนที่ยังไม่บ้า (ไม่ได้กะเล่นตลก ผมพูดจริง) พออ่านจบแล้วคุณจะรู้สึกยังโชคดีเหลือเกิน ที่คุณยังมมีสติสัมปชัญญะครบ ที่จะอ่านรวดเดียวจบ เพราะนอกจากจะสั้นแล้ว ความต่อเนื่องของเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญ เอกเกอร์สทำให้มันลึก แต่ไม่ยากที่จะสัมผัส ไม่แปลกใจที่หนังสือของเขาได้รับการนำไปทำเป็นภาพยนต์แล้วถึงสองเล่ม

และสำหรับเล่มนี้

ผมว่า... มันก็แค่รอเวลาเท่านั้นเอง

แท็ก:

bottom of page