ซื้อหนังสือก่อนไม่โง่! ความแตกต่างระหว่าง Pre-Order และ Subscription
top of page

ซื้อหนังสือก่อนไม่โง่! ความแตกต่างระหว่าง Pre-Order และ Subscription-Order


ในสมัยก่อน ทุกครั้งเวลาหนังสือใกล้ออกใหม่ นักอ่านก็จะตั้งหน้าตั้งตารอซื้อ บางเล่มถึงขั้นต่อแถวรอร้านหนังสือเปิดเมื่อทราบกำหนดวางแผงชัดเจน (เช่น หนังสือชุดเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์) ต่อมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น สำนักพิมพ์และร้านหนังสือก็ได้เริ่มเปิดการจองซื้อล่วงหน้าที่เรียกว่า การพรีออเดอร์ (Pre-Order) ขึ้นมาแทน ทำให้แฟนนักอ่านที่อยากได้รับหนังสือมาอ่านก่อนใครก็สั่งซื้อกันไปโดยไม่ต้องคิดมาก แต่บางครั้งบางคนก็ตั้งคำปรามาสไว้ว่า จะรีบซื้อไปทำไม เดี๋ยวหนังสือมันก็ลดราคามากกว่านี้อีก

หากเราลองมองลึก ๆ แล้ว จะเห็นว่า นักอ่านโดยแท้จริงแล้วไม่ได้คิดมากเรื่องความต่างของราคาแต่อย่างใด หากว่าหนังสือบางปก ถ้าสั่งซื้อในช่วงพรีออเดอร์จะมีความพิเศษกว่าปกติ นอกเหนือจากส่วนลด เช่น ได้รับของแถมเป้นที่คั่น สมุดโน๊ต ถุงผ้า ฉบับปกแข็ง มีปกแจ็คเก็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะหาไม่ได้อีกแล้วในการสั่งซื้อปกติ

ทั้งนี้มีการจองซื้อหนังสือล่วงหน้านั้น แท้จริงแล้วมีอยู่ 2 รูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่ชวนสับสน

  • แบบแรก การจองซื้อล่วงหน้าแบบปกติ หรือที่เรียกว่า "Pre-Order" นั่นคือ การสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนหนังสือพิมพ์เสร็จเป็นปก ๆ ไป มักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่หนังสือเข้าสู่กระบวนการพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  • แบบที่สอง การจองซื้อแบบติดตาม หรือที่เรียกว่า "Subscription-Order" ซึ่งเราจะคุ้นเคยการจองซื้อแบบนี้ในการสั่งซื้อนิตยสารในระบบสมาชิกรายปี นั่นคือ เราจ่ายเงินซื้อครั้งเดียว 12 เล่ม แล้วสำนักพิมพ์จะทำการทยอยส่งตามรอบเวลาหรือกำหนดการที่วางไว้

จากระบบสมาชิก สู่ ระบบการร่วมลงทุน

ต่อมาระบบ Subscription-Order ได้เริ่มมีการต่อยอดให้มีลักษณะผสมกับการมาระดมทุน (Cloud-funding) ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่สุดก็ต้องขอยกเคสตัวอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ "MAD ABOUT" นิตยสารแหวกแนวที่ริเริ่มโดยนิ้วกลมและโตมร สุขปรีชา

MAD ABOUT กำหนดไว้ว่าจะผลิตออกมาเพียง 3 ฉบับเท่านั้น ทำให้มันมีลักษณะการสั่งซื้อแบบ Subscription-Order กล่าวคือ นักอ่านจะจ่ายเงินซื้อทั้ง 3 ฉบับในครั้งเดียว และเกิดขึ้นก่อนที่นิตยสารจะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์เสียอีก หลังจากปิดรับจอง นิตยสารหัวนี้ก็จะถูกจัดส่งตามกำหนดการที่ผู้ผลิตกำหนดว่า ฉบับที่ 1 จะออกเดือนนี้ ปีนี้นะ ฉบับที่ 2 จะออกตอนนั้น ตอนนี้ นะ

แต่สิ่งที่พิเศษคือ MAD ABOUT ได้นำโมเดล Crowdfunding มาร่วมใช้ด้วย โดยแบ่งนิตยสารออกเป็นสามระดับราคา คือ ปกอ่อน / ปกแข็ง / ปกแข็งพร้อมลายเซ็น บก. และชื่อของนักอ่านที่ร่วมลงทุนจะปรากฏอยู่บนหน้าเครดิตของหนังสือ

จุดประสงค์ของระบบ Subscription-Order เงินที่ได้จากการจองซื้อล่วงหน้า สำนักพิมพ์จะเอาเงินส่วนนั้นมาเป็นทุนส่วนหนึ่งในการจัดพิมพ์ และทำให้สำนักพิมพ์สามารถคาดคะเนได้ว่าจะพิมพ์ออกมาในปริมาณที่เท่าไหร่

อีกสำนักหนึ่งที่นำระบบ Subscription-Order มาใช้ก็คือ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์ ที่นำมาใช้กับการสั่งจองซื้อซีรี่ย์ที่มีหลายเล่มจบ เช่น ซีรี่ย์เรื่อง "บันทึกปิ่น" ที่มี 8 เล่มจบ ก็ให้นักอ่านสั่งซื้อเลยทีเดียว โดยหนังสือจะถูกทยอยพิมพ์ส่งให้ที่ละเล่มตามกำหนดการณ์การออกจำหน่าย

 

ระบบการร่วมลงทุน/ระดมทุน (จริง ๆ นะ)

หนังสือบางปกก็ถูกจัดพิมพ์ขึ้นในฐานะของสะสม พิมพ์ในจำนวนจำกัด (ตามยอดระดมทุน/ยอดจอง หรืออาจจะพิมพ์มากกว่านิดหน่อย) อย่างเช่นที่โครงการ "วรรณกรรมไม่จำกัด" เปิดระดมทุน MAX WABER โดยตั้งยอดพิมพ์ไว้ที่ 800 เล่ม นอกเหนือจากนี้ ก็สามารถพบได้กับหนังสือทำมือของนักเขียนอินดี้ที่จะปริ้นต์ออนดีมานด์ตามยอดจองก็เข้าข่ายลักษณะเดียวกัน

หรือหนังสือ "สิทธารถะ" ฉบับพิเศษของสำนักพิมพ์ openbooks ที่ตั้งเป้าผลิตไว้เพียง 1,000 เล่ม (และหมดใน 12 ชั่วโมง ให้ตายเถอะ) ก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน

 

จะเห็นว่าการจองซื้อหนังสือล่วงหน้านั้นไม่ใช่เรื่องที่โง่เง่าเลย แม้ว่าในภายหลังหนังสือที่เราจองซื้อจะถูกนำมาขายลดราคา 50% ก็ตาม แต่สิ่งที่มันได้จริง ๆ มันมีมากกว่าราคาที่ลดเยอะ และสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภค (นักอ่าน) ล้วน ๆ ครับ

bottom of page