top of page

[Review]โอลด์ แมนส์ วอร์ | ยึดติดหรือปล่อยวาง

ถ้าเรายึดติด

เราจะไม่ยอมรับสิ่งใหม่

แต่รู้ไหมว่า

เพราะเรายึดติดนั่นแหละ

มันถึงผลักดันให้เรายอมรับสิ่งใหม่

ถ้าเราถือดาบ ก็จะกอดเธอไม่ได้

แต่ถ้ากอดเธอ ก็จะไม่มีมือถือดาบเพื่อปกป้องเธอ

จาก “บลีช” เทพมรณะ ปกในเล่ม 2 โดยไทเทะ คุโบะ

 

“โอล์ แมนส์ วอร์” (ชื่อภาษาไทยทับศัพท์ โดยสำนักพิมพ์โซลิส) ผลงานสร้างชื่อให้กับ จอห์น สกัลซี่ ตีพิมพ์ในปี 2005 และได้รับเสนอให้รับรางวัล Hugo ในปี 2006 หนังสือชุดนี้มีทั้งหมด 6 เล่ม และนี่คือเล่มหนึ่งของชุดนี้

หนังสือเล่มนี้พาเราไปสู่อนาคต ที่อาณาเขตของมนุษย์ไปไกลเกินกว่าวงโคจรระบบสุริยจักรวาล เรามีอาณานิคมอยู่ตามกลุ่มดาวต่างๆมากมาย และแน่นอน มันหมายถึงการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างเราและมนุษย์ต่างดาว กองกำลังป้องกันอาณานิคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และนั่นนำมาสู่พลอตหลักของเรื่อง

กองกำลังป้องกันอาณานิคม ไม่ใช่คนหนุ่มสาว

หากแต่กอปรไปด้วยคนแก่อายุ 75 ปีขึ้นไป เท่านั้น

กฏของโลกอนาคตคือ เมื่อคุณอายุ 75 ปี คุณจะมีทางเลือก หนึ่งแก่ไปอย่างนั้น รอตายไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตมีความสุขกับครอบครัว ลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ที่สั่งสมมาตั้งแต่หนุ่ม หรือสอง ทิ้งมันทุกอย่าง และมาเป็นทหารเกณฑ์อวกาศ ร่วมปกป้องอาณานิคมจากชนต่างดาว

จอห์น เพอร์รี่ ชายแก่ที่เมียตาย ลูกชายคนเดียวประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ตัดสินใจในวันเกิดอายุ 75 ปีอย่างไม่ต้องคิดย้อนซ้ำสอง เขาเดินทางไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์และมุ่งหน้าสู่จักรวาลโดยทิ้งโลก ครอบครัวไว้เบื้องหลัง แม้จะไม่มีความกระจ่างอะไรมากมายนักกับทางที่เขาเลือก แต่เขาก็ไม่คิดจะย้อนกลับ

สกัลซี่ ทำงานกับแกนหลักของเรื่องและโครงเรื่องได้ดี แม้เราจะไม่ค่อยได้เป็นอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบเชิงรูปธรรมนามธรรมมากมายในเรื่องมากนัก แต่เขาเริ่มต้นโจทย์ของเรื่องนี้ด้วยคำถามเชิงนามธรรมอันยิ่งใหญ่ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกอยู่แล้ว นั่นก็คือ การเผชิญหน้ากันระหว่าง “การยึดติด” กับการ “ค้นหาสิ่งใหม่”

จอห์น เพอร์รี่ ตัวเอกของเรื่อง เพื่อจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นทหารเกณฑ์ เขาจำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ตรงจุดนี้สกัลซี่ใช้เป็น “คนชราอายุ 75 ปี” แทนนามธรรมของการยึดติด คิดดูสิว่าคนแบบไหนกันล่ะที่ยึดติดที่สุด แน่นอน คำตอบคือคนแก่อยู่แล้ว คนแก่ใช้ชีวิตอยู่บนความสำเร็จ หรืออะไรก็ตามที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิต ถ้าต้องเขียนโจทย์วรรณกรรมเกี่ยวกับ “ความยิดตึด” แล้วล่ะก็ คนชรา คือตัวอย่างที่ดี และสกัลซี่ก็ไม่พลาดที่จะหยิบเอาจุดนี้มาเล่น

เนื้อเรื่องแม้จะบอกว่าเป็นนวนิยายแนวไซไฟ หากแต่ผมพบว่า มันค่อนข้างเป็นงานสมูธตี้มากกว่า และวิทยาศาสตร์อาจจะไม่ใช่ส่วนผสมหลัก ผมมองว่าปรัชญามากกว่าที่ฟุ้งเต็มไปหมดในงานเขียนเล่มนี้ ชีวิตและการรู้จักตัวเอง เราเกิดมาทำไม เรามีความหมายอะไรในจักรวาล และเรากำลังทำอะไรอยู่ ล้วนเป็นโจทย์ทายปรัชญาที่ถูกหยิบยกมาสอดแทรกในเนื้อหาตลอดเวลา

ผู้เขียนฉลาดที่ทำเพียงแค่ยกโจทย์มาแทรกเพื่อให้เราสงสัย แต่ไม่ให้คำตอบ แน่นอน เพราะมันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องถูกใจ แต่ผมชอบที่เขาทำแบบนี้ เพราะในระหว่างความวุ่นวายของชีวิตประจำวันของเราๆท่านๆทุกคน บางครั้งเราหลงลืมคำถามโจทย์ชีวิตเหล่านี้ไป และยิ่งเราห่างไกลจากคำถามเหล่านี้ ผมมองว่าเราห่างไกลความเป็นมนุษย์ไปทุกทีๆนะ

เหมือนกับในเรื่องที่ พอถึงจุดหนี่ง จอห์นเพอร์รี่ สงสัยว่าเขายังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ในร่างกายแบบนี้ ในที่ที่ห่างไกลจากโลกมนุษย์ถึงขนาดจินตนาการไม่ได้แบบนี้ หรือเขากลายเป็นเครื่องจักรสงครามไปเรียบร้อยแล้ว และนั่นคือจุดที่ดึงความคิดเขากลับสู่ “ความยึดติด” อีกครั้ง หลังจากอ้าแขนต้อนรับ “สิ่งใหม่ๆ”

โดยรวมแล้ว แม้เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ในเล่มนี้จะไม่ทำให้ผมทึ่ง (แน่ล่ะ ผมตั้งต้นกับโจทย์ที่ว่ามันเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์นี่นา) แต่สกัลซี่ก็มอมเมาผมด้วยปรัชญา จนผมวางมันไม่ลงเลยทีเดียว จริงอยู่ที่ผมเริ่มต้นบทความวิจารณ์นี้ด้วยคำคมจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันกับ โอล์ดแมน’ส วอร์ เลย

แต่เชื่อเถอะว่า ... หลังคุณอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เล่มนี้จบ

คุณจะพบว่า ... มันเกี่ยวกัน

แล้วคุณล่ะ

จะเลือก “ยึดติด” หรือ สร้าง “สิ่งใหม่”

ยังไม่ต้องตอบนะครับ ขอให้ไปอ่านก่อน

enjoy reading

อ่านได้ที่: paperyard.co/product-page/9786169294702

Comments


bottom of page