สี่ยุคแห่งวรรณกรรม - จากสดใสกลายเป็นเสียดลึกสุดขั้วหัวใจ
top of page

สี่ยุคแห่งวรรณกรรม - จากสดใสกลายเป็นเสียดลึกสุดขั้วหัวใจ

มันก็แค่ความบันเทิงที่ดึงเรากลับไปสู่ช่วงวัยที่เราชอบมากที่สุดนั่นเอง

 

เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ 4 ของวรรณกรรมเยาวชน ...

วรรณกรรมเยาวชน (young adult fiction เรียกย่อๆว่า YA)​ เป็นหนังสือที่เน้นกลุ่มคนอ่านที่อายุประมาณสิบต้น ๆ จนถึงยี่สิบกลางๆ (ซึ่งไม่เชิงเป็นเยาวชนแล้วหรอกนะ) แต่ช่วงหลังกลุ่มอายุคนอ่านเริ่มไม่ใช่พรมแดนสำคัญของหนังสือประเภทนี้อีกต่อไป ขอบเขตของผู้นิยมวรรณกรรมเยาวชนเริ่มขยายกว้างมากขึ้น คนยี่สิบปลาย คนสามสิบต้น ยันสามสิบปลาย สี่สิบ หรือ ห้าสิบก็ยังคงอ่านหนังสือในกลุ่มนี้

สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าเมื่อเราเริ่มอ่านแล้ว เราจะยังคงอ่านมันต่อไป หากเราเคยชื่นชอบวรรณกรรมนี้ตอนเราอายุสิบกว่า ๆ เราก็จะอ่านต่อเนื่องมาแม้ว่าวัยเราจะก้าวข้ามพรมแดนของ “เยาวชน” ไปแล้ว คงไม่ต่างอะไรกับ คนอายุสามสิบกว่าๆแต่ก็ยังคงดูการ์ตูนและอ่านหนังสือการ์ตูน สรุปให้เข้าใจโดยง่าย มันก็แค่ความบันเทิงที่ดึงเรากลับไปสู่ช่วงวัยที่เราชอบมากที่สุดนั่นเอง

และเพราะกลุ่มคนอ่านที่กว้างขึ้น บวกกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นล่ะ จึงทำให้วรรณกรรมเยาวชนเกิด "Trending" และนำไปสู่ "Era (ยุคสมัย)"

ธรรมชาติของการเกิด Trending และ Era เริ่มต้นจากการมีนักเขียนสักคนหนึ่งที่เริ่มเขียนนิยายสักแนว แล้วเมื่อแนวนั้นได้รับความนิยม นักเขียนคนอื่น ๆ ที่ “พอจะ” เขียนแนวนั้นได้ ก็เริ่มเขียนตาม

หนังสือที่ได้รับความนิยม 1 เล่ม ทอดนำไปสู่เล่มที่ 2 3 4 เป็นลูกโซ่ และเมื่อบนแผงหนังสือเริ่มมีหนังสือแนวนี้มากขึ้น ๆ คนอ่านที่เคยอ่านแนวนี้ไปหนึ่งเล่มและยังคงติดใจ ก็จะนำไปสู่การซื้อเล่มที่ 2 3 4 ที่มีลักษณะแนวเดียวกัน เมื่อ Demand เพิ่ม แน่นอน Supply ก็ตามมา ซ้ำยังพยายามเติมให้มีความหลากหลาย

จึงแปลได้ว่า เมื่อหนึ่งชั้นในร้านหนังสือเต็มไปด้วยหนังสือแนวนี้เมื่อไหร่ แปลว่า Trending แนวนั้นกำลังมา และเมื่อมันครองได้มากกว่าหนึ่งชั้น หรือถูกหยิบจับไปทำอะไรที่มากกว่าหนังสือ เช่น ภาพยนตร์ หรือ ละครซีรี่ย์ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Era

 

ยุคแรกของวรรณกรรม

ยุคนี้เป็นยุคที่ยาวที่สุด และอาจพูดได้ว่า "อมตะ" ที่สุดก็ว่าได้ วรรณกรรมในยุคนี้จะพูดถึงโลกในจินตนาการ โลกคู่ขนาน ที่แยกตัวออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเด็ดขาด เช่น

- นาร์เนียร์ กับ โลกเรา จากวรรณกรรมชุด ตำนานแห่งนาร์เนียร์ ของ C.S.Lewis /



- โลกมหัศจรรย์ที่อลิซไปผจญภัย ใน Alice in Wonderland /

- ดินแดนแห่งเวทมนต์ที่โดโรธีไปตามหาพ่อมดออซ ใน The Wizard of Oz /

- ดินแดนแห่งนิทานไม่รู้จบในเรื่อง Never Ending Story ที่ดินแดนที่ตัวเอกไปผจญภัยจะแยกตัวออกจากโลกมนุษย์ที่เราอยู่กันอย่างชัดเจน

 

ยุคที่สองของวรรณกรรม

ยุคที่โลกมหัศจรรย์ “ซ้อนทับ” อยู่กับโลกมนุษย์ที่เราอาศัย เป็นโลกเบื้องหลัง โลกที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้

ยุคนี้เปิดศักราชด้วยเรื่องอะไรไม่ชัดเจนนัก แต่หนังสือที่ประกาศให้โลกนี้รับรู้ถึงการเริ่มต้นของยุคที่สองคือ ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ นั่นเอง และเพราะความสำเร็จอย่างท่วมท้นของพ่อมดน้อยคนนี้ผ่านปลายปากกาของเจ.เค.โรลลิ่ง นักเขียนคนอื่น ๆ จึงทยอยกันสร้างจักรวาลของโลกมหัศจรรย์ที่ซ้อนทับโลกมนุษย์ของเราตามมาอย่างมากมาย

ตัวอย่างเช่น

- อาร์ทีมิส ฟาล์ว ที่มีโลกแฟร์รี่ซ้อนทับ/

- เดอะ มอร์ทัล อิสทรูเมนท์ โลกของนักล่าเงา/

- เพอร์ซี่ แจ็กสัน ที่มีโลกของเทพกรีกโรมันซ่อนไว้เป็นโลกเบื้องหลัง

- หรือนิยายรัก ทไวไลท์ ที่กล่าวถึงโลกเบื้องหลังของแวมไพร์ ที่อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างเราๆนี่เอง

ยุคนี้ไม่ได้มีเพียงนักเขียนนานาชาติที่ทยอยปล่อยผลงานลงมาสู่ตลาด แต่นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนไทยก็ไม่น้อยหน้า หากลองไปดูในเว็บไซต์ dek-d.com ในสมัยที่แฮร์รี่ พอตเตอร์กำลังบูมแตกนั้น นิยายเด็กแนวโรงเรียนในโลกมหัศจรรย์ที่เดินทางไปกลับได้ระหว่างโลกนั้นกับโลกเรา มีเป็นหลักพันหลักหมื่น บางเรื่องถึงขั้นได้โอกาสตีพิมพ์ แต่บางเรื่องก็ไม่

ยุคที่สองนี้เป็นยุคที่มีหนังสือออกมาเติมเป็นสมาชิกเยอะที่สุด แต่ก็ไม่มีเล่มไหนที่สามารถทำผลงานเทียบเคียงความสำเร็จของผู้นำของยุคอย่าง "แฮร์รี่ พอตเตอร์" ได้

เมื่อตลาดอิ่มตัวและจงรักภักดีต่อพ่อมดน้อยแบบนี้ นักอ่านเองก็มองหาหนังสือแนวอื่น นักเขียนเองก็เริ่มรู้ว่าคงไม่สามารถสร้างงานแนวนี้ที่มาสู้กับเจ.เค.ได้ นั่นจึงนำพาเราไปสู่ยุคที่สามของวรรณกรรม

 

ยุคที่สามของวรรณกรรม

ยุคแห่งดิสโทเปีย วรรณกรรมที่ว่าด้วยโลกอนาคตที่ไม่ได้สวยงาม อนาคตที่บิดเบี้ยว และกึ่งๆจะเป็นโลกในจินตนาการด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่ดีสำหรับวรรณกรรมในยุคนี้ เช่น

- The maze runner

- Divergent

- The 100

- Wayward pines

- The Hunger Game

ในยุคนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากว่า พรมแดนของอายุคนอ่านนั้นได้เลือนหายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้จะยังคงชื่อว่าเป็น YA ก็จริง แต่กลุ่มคนอ่านกว้างมากกว่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว

วรรณกรรมที่มีอิทธิพลสุดๆในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น The Maze runner , The divergent และตัวสำคัญที่สุดคือ The Hunger game นิยายในยุคนี้จะเน้นที่โลกอนาคตที่ปรักหักพังหลังจากสงครามบ้าง โรคร้ายบ้าง และโลกมักเปลี่ยนสภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือ โลกต้องการฮีโร่มาเป็นผู้นำอีกครั้ง และผู้นำมักจะมาจากชนชั้นล่างที่สุดในเรื่อง และหลายเล่มมากที่หยิบยกเอาผู้หญิงมาเป็นตัวเอก

ยุคที่สามของวรรณกรรมเป็นยุคที่สั้นที่สุด เราเห็นการเกิดและจากไปในเวลาไม่ถึง 3 ปี เรื่องสุดท้ายที่ยังพยายามเล่นแนวนี้บนแผงหนังสือคือ The Red Queen ที่ถ้าตัดสินด้วยใจคนอ่านเองก็คงคิดว่า มันเบื่อเกินไปแล้ว พล็อตซ้ำ อนาคตที่พังทลาย นางเอกที่มาจากชนชั้นต่ำ แต่ดันมีพลังพิเศษที่ชนชั้นสูงต้องหวาดกลัว และต่อให้ต้องการใช้ชีวิตปกติธรรมดาไม่แสวงหาอำนาจ แต่นางเอกก็ต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธแนะนำทัพต่อสู้เพื่อปฏิวัติ

และเพราะนักอ่านเองก็เริ่มเบื่อ และนักเขียนเองก็รู้สึกตันต่อการแตกพลอตแนวนี้ เราจึงเข้าสู่ยุคที่สี่ของวรรณกรรมอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ the red queen จะปิดซีรี่ส์ด้วยเล่มสุดท้ายด้วยซ้ำไป (ซึ่งนั่นหมายความว่า ยอดขายเล่มสุดท้ายก็คงจะไม่โสภานัก)

 

ยุคที่สี่ของวรรณกรรม

ยุคแห่ง Psycho bullying กลับสู่สามัญอันโหดร้าย คำนี้น่าจะแทนยุคนี้ได้ดี ยุคที่เราไม่ไปท่องโลกมหัศจรรย์ ไม่สนใจโลกที่ซ้อนทับคู่ขนาน และไม่เดินทางไปในอนาคตอีกต่อไป ยุคที่วรรณกรรมเยาวชนวนกลับมาสู่วังวนเยาวชนปกติทั่วไปนี่แหละ หากแต่นำเสนอด้านร้ายและด้านมืดแทน

อันที่จริง ยุคที่สามกับยุคที่สี่นั้นมีช่วงเวลากำเนิดที่ใกล้เคียงกัน แต่จุดกระแสติดต่างกรรมต่างวาระกัน ซึ่งไม่ต้องดูตัวอย่างที่ไหนไกล เราเปิดยุคด้วย

- 13 reasons why (13บันทึกลับหัวใจสลาย) เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย ชีวิตโหดร้าย เป็นโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องที่โด่งดังจนกลายเป็นซีรี่ส์บน Netflix จนนำมาสู่หนังสือแนวนี้มากมายบนแผง/

- One of us is lying นิยายที่ว่าด้วยเรื่องวัยรุ่น โรงเรียน ชีวิต การกลั่นแกล้ง โรคจิตเวช และความรุนแรงอันน่าเกลียดของสังคม นิยายเรื่องนี้ทำปรากฏกาณ์ หมดร้าน ถึงสามครั้งติด เรียกว่าสั่งมาเท่าไหร่หมดในวันถัดไปตลอด

- ไม่ใช่แค่ในระดับภาษาอังกฤษ เรื่อง “แสบ” ที่เป็นนิยายไต้หวันก็นำเสนอเรื่องแบบเดียวกัน แถมยังจับยำเอาระบบการศึกษาอันฟอนเฟะของไต้หวันมาสับเละในเรื่องนี้ด้วย/

- หรือกระทั่ง Follow me back จากฝั่งแดนผู้ดีอังกฤษก็เช่นกัน

วรรณกรรมในยุคนี้เริ่มกลับมาวนๆอยู่ในสังคมรอบตัว แต่หยิบยกสิ่งที่คนไม่เคยพูดถึงมาบอกเล่ามากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพูดได้ว่าเป็นยุควรรณกรรมกระจกสะท้อนเงาสังคมจริงๆก็ได้

 

Q: แล้วยุคต่อไปหลังจากนี้ล่ะ?

A: ผมเชื่อเหลือเกินว่า วรรณกรรมก็เหมือนคนนั่นล่ะ มันมีชีวิต ในเมื่อเราอยู่ในวัฏจักร ดังนั้นวรรณกรรมก็อยู่ในวัฏจักรเช่นกัน เมื่อวนผ่านไปแล้ว มันจะวนกลับมาใหม่อีกอยู่ดี อยู่ยาว อยู่สั้น ผมเชื่อว่า มันจะกลับมา ต่างกรรมต่างวาระเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าในแต่ละยุคแล้ว วรรณกรรมแบบเก่า ๆ จะหายไปหรือตายไปนะ เพียงแต่มันไม่ได้อยู่ชัดเจนมากบนแผงหนังสือก็เท่านั้นเอง

วรรณกรรมก็คือ "งานศิลปะ"

แต่คำว่า “แวดวงวรรณกรรม” มันคืองานธุรกิจนะครับ

วงจรของยุควรรณกรรม มันเริ่มจากคนเขียน และคนอ่านก็จริง

แต่สุดท้ายแล้วนะ มันถูกกำหนดด้วย เศรษฐศาสตร์ บน วรรณกรรม ทั้งนั้นล่ะครับ

bottom of page