[รีวิว]Different Season เรื่องเล่าต่างฤดู - สิ่งสำคัญคือเรื่องเล่า หาใช่ผู้เล่าเรื่อง
top of page

[รีวิว]Different Season เรื่องเล่าต่างฤดู - สิ่งสำคัญคือเรื่องเล่า หาใช่ผู้เล่าเรื่อง

Different Seasons: เรื่องเล่าต่างฤดู

August 19, 2018 เขียนโดย fabookishlife

ผลงานของ สตีเวน คิง แปลโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล



นกบางตัวไม่ได้เกิดมาเพื่อจะถูกขัง เรื่องก็มีอยู่แค่นั้น ขนของพวกมันเป็นประกายเกินไป บทเพลงอ่อนหวานและกราดเกรี้ยวเกินไป ดังนั้นคุณจึงต้องปล่อยมันเป็นอิสระ หรือไม่อย่างนั้น เวลาที่คุณเปิดกรงเพื่อให้อาหาร พวกมันจะหาวิธีบินออกมาจนได้


คุณยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือ สายตาไล่ดูปกนิยายเรื่องต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่บนนั้น สตีเวน คิง สตีเวน คิง ชื่อนี้ดูท่าจะคุ้นหูคุณมาก อ๊ะ นึกออกแล้ว นักเขียนนิยายสยองขวัญคนนั้นนั่นไง คุณดีดนิ้วดังเป๊าะ เปล่า คุณไม่เคยอ่านนิยายของเขาหรอก แต่คุณเคยดู The Shining กับ Carrie ภาพยนตร์สยองขวัญที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว หน้าปกสีขาวถูกแต่งแต้มด้วยสีเขียว, ฟ้า, แดง, และเหลือง ซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าใช่ปกของนิยายสยองขวัญ แล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรล่ะ คุณหยิบหนังสือเล่มนั้นออกมาจากชั้น


สิ่งสำคัญคือเรื่องเล่า หาใช่ผู้เล่าเรื่อง

“เรื่องเล่าต่างฤดู” หนังสือที่เกิดขึ้นมาจากการรวบรวมเรื่องเล่าจำนวนสี่เรื่องของนักเขียนชาวอเมริกันนามว่า สตีเวน คิง ผู้ที่ทุกคนรู้จักกันดีในฐานะเจ้าพ่อแห่งวงการนิยายเขย่าขวัญ โดยเรื่องเล่าทั้งสี่เรื่องนี้ถูกเขียนภายใต้ธีมของฤดูกาล ซึ่งได้แก่ “ริต้า เฮย์เวิร์ธกับการไถ่บาปที่ชอว์แชงก์” ตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ, “เจ้าหนูกับผู้เฒ่า” เรื่องเล่าจากฤดูร้อน, “ศพข้างทางรถไฟ” ฤดูใบไม้ร่วง ที่มาของหนัง Stand by Me, และ “วิธีหายใจ” จากฤดูหนาว


ความหวังเป็นสิ่งที่ดี เร้ด อาจดีที่สุดแล้วในโลกนี้ และสิ่งที่ดีไม่มีวันตายจากไปไหน

นานมาแล้ว ตอนที่คุณยังเป็นเด็ก คุณกลับมาบ้านแล้วบอกพ่อของคุณว่าวันนี้คุณรู้สึกสิ้นหวังมาก พ่อยิ้มแล้วบอกคุณว่าวันนี้เราจะดูหนังกัน คุณอารมณ์ดีขึ้นมานิดหน่อยเพราะคุณชอบดูหนัง แต่ลึกๆ คุณก็ยังรู้สึกสิ้นหวังอยู่ กลางดึกคืนนั้น พ่อเปิดหนังที่ชื่อว่า The Shawshank Redemption ช่วงแรกที่คุณพยายามตั้งใจดูคุณเกือบหลับ แต่หลังจากนั้นหนังก็เข้มข้นขึ้นจนคุณละสายตาไม่ได้เลย เมื่อหนังจบลง คุณรู้สึกว่าไฟแห่งความหวังที่ถูกดับไปเมื่อเช้านี้ถูกจุดขึ้นมาอีก คุณหันไปหาพ่อแล้วยิ้มให้ท่าน



“ริต้า เฮย์เวิร์ธกับการไถ่บาปที่ชอว์แชงก์” คือเรื่องสั้นที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังดังนามว่า The Shawshank Redemption ในปี ค.ศ. 1994 เรื่องราวเล่าถึง แอนดี้ ดูเฟรส์น นายธนาคารหนุ่มอนาคตไกล ผู้ถูกจับข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชายชู้ เขาถูกส่งตัวไปที่ชอว์แชงก์หลังศาลตัดสินให้จำคุก แอนดี้ อดีตนายธนาคารหนุ่มจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเพื่อนใหม่ของเขาอย่างไร ในเมื่อการอาศัยอยู่ในคุกดูจะไม่ง่ายเลยหากเขาเลือกที่จะเป็นศัตรูกับพวกซิสเตอร์และใครๆ อีกมากมาย ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นแอนดี้คุณจะทำอย่างไร เมื่อชะตากรรมพัดพาคุณไปในที่ที่ความหวังดูริบหรี่เหลือเกิน คุณจะพยายามเก็บเศษเสี้ยวความหวังของคุณขึ้นมาทีละชิ้นทีละชิ้นและประกอบมันกลับขึ้นมาใหม่ถึงแม้บางทีอาจจะถูกเหยียบย่ำทำลายอีกครั้ง คุณจะเลือกที่จะมีความหวังและเฝ้าฝันถึงอิสรภาพอยู่ต่อไปอีกไหม แอนดี้สวมใส่เสรีภาพติดตัวอยู่ตลอดเวลาราวกับมันเป็นเสื้อคลุมล่องหน โดยเรื่องราวทั้งหมดนี้จะถูกเล่าผ่านสายตาของ เร้ด หนึ่งในนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในชอว์แชงก์


“คุณคิดว่าจะมีวันได้ออกจากที่นี่ไหม”

“แน่อยู่แล้ว ตอนที่หนวดเคราฉันหงอกทั้งหมดและยาวเฟื้อย และเหลือทางเลือกในชีวิตอยู่แค่ไม่กี่อย่าง”

“มันจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น” บั๊กส์ แอนเดอร์สันพูดด้วยความรู้สึกเอ่อท้น “เธอเจออะไรบางอย่างเป็นครั้งแรก และรู้ทันทีว่าเธอพบความสนใจสูงสุดในชีวิตแล้ว เหมือนลูกกุญแจที่บิดดังกริ๊กในรูกุญแจ หรือการตกหลุมรักใครสักคนตั้งแต่แรกเห็น เพราะอย่างนี้วันแนะแนวอาชีพจึงสำคัญมาก เพราะมันอาจเป็นวันที่พวกเธอได้พบความสนใจสูงสุดที่ว่านั้นก็ได้”

 

หลังจากที่คุณดู The Shawshank Redemption จบ คุณอยากรู้ว่ามีหนังอะไรแบบนี้อีกไหม และคุณก็ไปเจอกับเรื่องนี้เข้า Apt Pupil (1998) คุณคาดหวังว่าจะเจออะไรที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่เลย เมื่อคุณดูหนังเรื่องนี้จบ คุณฝันร้ายไปหลายคืนเลยล่ะ



เรื่องมันเริ่มต้นง่ายๆ ออกจะดูน่ารักสดใสไปด้วยซ้ำไป “เจ้าหนูกับผู้เฒ่า” กล่าวถึงเด็กชายหัวสีข้าวโพดสุกเจ้าของดวงตาสีฟ้าวัยสิบสามปี ทอดด์ บาวเดน ผู้มีความฝันที่จะเป็น P.I. หรือนักสืบเอกชน เด็กชายได้เริ่มเล่นเป็นนักสืบสมัครเล่นเมื่อเขาแอบติดตามชายแก่คนหนึ่งผู้ที่เขาสงสัยว่าจะเป็น เคิร์ต ดุสแซนเดอร์ อดีตนายทหารนาซี ทอดด์ทำทุกวิถีทางที่จะเข้าใกล้และพูดคุยกับชายแก่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับค่ายกักกัน ในตอนนั้นทอดด์คิดว่านี่คือความสนใจสูงสุดของเขาแล้ว “แก๊สถูกปล่อยออกมาทางฝักบัวเหมือนไซโคลนบี แล้วพวกเขาก็… ก็เริ่มอ้วก จากนั้นก็… ก็ถ่ายแบบกลั้นไม่อยู่” และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์แสนพิลึกพิลั่นของพวกเขา


“หนูน้อย” ดุสแซนเดอร์พูด รินเหล้าเบอร์เบิ้นเพิ่ม และเริ่มหัวเราะออกมาอีก “เราสองกำลังเอากันเองอยู่นี่ไง เธอไม่รู้หรอกรึ”

ผมอายุสิบสอง ย่างสิบสาม ตอนที่เห็นคนตายครั้งแรก

 

ตอนนี้คุณกำลังนั่งฟังเพลง Stand By Me ของ Ben E King อยู่ คุณมักจะฟังเพลงนี้เวลาคุณคิดถึงเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานานแล้ว ทำไมคนวัยคุณถึงฟังเพลงยุค 70s นะ คุณไม่ได้ชอบเพลงยุคนี้เป็นพิเศษหรอก แต่เพราะเพลงนี้เป็นเพลงประกอบของหนังในดวงใจคุณต่างหาก



“ศพข้างทางรถไฟ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อหนัง Stand by Me (1986) เป็นเรื่องราวความทรงจำวัยเด็กของชายหนุ่มนักเล่าเรื่อง มิตรภาพในวัยสิบสองย่างสิบสาม เพื่อนซี้สี่คน บ้านบนต้นไม้ฐานทัพลับของพวกเขา เรื่องมันมีอยู่ว่า ในวันหนึ่งที่อากาศร้อนจัด หนึ่งในเพื่อนซี้วิ่งหอบมาที่บ้านต้นไม้ สีหน้าตื่นเต้นพลางชักชวนเพื่อนๆ ไปดูศพ ใช่แล้ว ศพคนตาย เพื่อนทั้งสี่วางแผนเตรียมตัวกันอย่าวรวดเร็วแล้วจึงออกเดินทางไปตามหาศพดังกล่าว แต่แทนที่พวกเขาจะเจอศพแล้วจบแค่นั้น พวกเขากลับเจอปัญหาและบทเรียนต่างๆ อีกมากมาย เอ แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไรกันนะ มันก็เกี่ยวกับหลายๆ เรื่องในชีวิตคนเราเลยล่ะ การที่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะปฏิบัติตนให้เป็นคนที่ตัวเองอยากเป็นได้ การเลือกคบเพื่อน มิตรภาพในรูปแบบต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย


ผมมีอย่างอื่นที่อยากจะพูดกับคริส แต่ไม่รู้จะพูดออกไปอย่างไร

“ขอมือหน่อย เพื่อน” คริสพูด น้ำเสียงเหนื่อยเหลือเกิน

“คริส-”

“มือ”

ผมยื่นมือไปแปะกับเขา “แล้วเจอกัน”

“ผมมีคำถามข้อหนึ่ง ถ้าคุณไม่รังเกียจ”

“ผมก็คิดว่าคุณน่าจะมี”

 

อ๊ะๆ อย่าเพิ่งเสียดายไปหากคุณหาหนังเรื่อง The Breathing Method ไม่เจอ ก็มันไม่มีนี่นา แต่ไม่ต้องห่วงเราได้ข่าวแว่วๆ มาว่าพวกเขากำลังมีโปรเจกต์ทำหนังเรื่องนี้กันอยู่ คาดว่าจะออกมาในปี ค.ศ. 2020 แต่นั่นก็เป็นแค่ข่าวแว่วๆ มานะ ไม่รู้จริงแค่ไหน


อืม ในที่สุดก็มาถึงเรื่องสุดท้ายของซีรี่ย์เรื่องเล่าต่างฤดูแล้ว “วิธีหายใจ” ซึ่งขอยอมรับตรงๆ ว่าอ่านแล้วเข้าใจยากอยู่เหมือนกัน เริ่มเรื่องที่ชายคนหนึ่งได้รับเชิญมานั่งเล่นที่คลับลึกลับแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ที่ตัวเอกมองว่าเป็น “คลับสุภาพบุรุษ” ที่นั่นจะมีคนดูแลบาร์ที่ชื่อ สตีเวนส์ คอยต้อนรับสมาชิก ในห้องรับแขกที่มีชั้นหนังสือ เตาผิงขนาดใหญ่ที่ซุ้มหินครอบเป็นแนวโค้งอยู่ด้านบนพร้อมกับข้อความที่จารึกไว้ว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องเล่า หาใช่ผู้เล่าเรื่อง แล้วคนเหล่านี้เขามาชุมนุมอะไรกันที่นี้หรือ พวกเขามาเล่าเรื่องและฟังเรื่องเล่า

แล้วยังไงต่อล่ะ คุณคงสงสัยเช่นเดียวกับที่ฉันสงสัย แต่ สตีเวน คิง ไม่ปล่อยให้คุณสงสัยนานหรอก ฉันจึงขอยกคำพูดที่เกิดขึ้นในตอน “ศพข้างทางรถไฟ” มาสักหน่อย


“เออว่ะ แจ๋วมาก หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น”

“ไม่รู้สิ”

“หมายความว่าไง ไม่รู้”

“ก็หมายความว่า เรื่องจบแล้ว ตอนที่นายไม่รู้ว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น นั่นแหละตอนจบ”


แต่คุณก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะว่า


มันเป็นอย่างนี้มาตลอด และในวันหนึ่งข้างหน้า อีกไม่ช้าไม่นานเท่าไหร่ ผมอาจมีเรื่องอื่นมาเล่าให้คุณฟังอีก


ลุงเขาว่ามางั้นนะ

bottom of page