รู้จักอาชีพ "นักซ่อมหนังสือ" หมอผู้ฟื้นคืนหนังสือขึ้นมาจากความตาย
top of page

รู้จักอาชีพ "นักซ่อมหนังสือ" หมอผู้ฟื้นคืนหนังสือขึ้นมาจากความตาย


หากพูดถึงองค์ประกอบของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือ พวกเขาก็คงจะนึกถึงนักเขียน สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ ห้องสมุด นักอ่าน แต่ดูเหมือนว่ามันจะยังขาดไปอาชีพหนึ่ง ในเมื่อเรามีผู้ผลิต (นักเขียน สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์) ผู้ขาย (ร้านหนังสือ) และผู้บริโภค (นักอ่าน) แล้ว การมีอยู่ของอาชีพ "นักซ่อมหนังสือ" ก็ดูเป็นสิ่งที่ทำให้วงจรของวงการหนังสือนั้นสมบูรณ์

ในสังคมนักอ่าน เหล่าบรรดาหนอนหนังสือทุกคนน่าจะมีหนังสือสักเล่มที่มีค่ามากที่สุด และเก็บทะนุถนอมไว้อย่างดี แต่กระดาษย่อมเป็นกระดาษวันยังค่ำ เมื่อเวลาแผ้วผ่านไป ย่อมทำให้หนังสืออยู่ในสภาพที่ชำรุดไปตามอายุการใช้งาน ทั้งกระดาษเปื่อย กระดาษขาด มอดกิน กาวหมดสภาพ หน้าปกขาดขาย สันหลุด บางเล่มอาจจะยังพอหาซื้อใหม่ได้ แต่นานวันเข้า แม้แต่ในร้านหนังสือมือสองก็ไม่มีขายอีกต่อไปแล้ว

 

คนป่วยยังไปหาหมอเพื่อรักษาได้ แล้วทำไม "หนังสือ" จะรักษาไม่ได้ล่ะ

 

นักซ่อมหนังสือ อาจจะไม่ใช่อาชีพที่ฟังคุ้นหูหรือดูคุ้นตานัก เพราะมันเป็นอาชีพที่มีคนเพียงจำนวนหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่เลือกจะทำบนโลกนี้ อาจเป็นเพราะว่า มันเป็นงานช่างฝีมือที่ต้องอาศัยความสามารถและประสบการณ์ในระดับหนึ่ง และนั่นทำให้มันเป็นอาชีพที่น่าสนใจมากและมีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก คู่แข่งน้อย

ถ้าเราจะมองหานักซ่อมหนังสือในชีวิตประจำวันล่ะก็ ส่วนใหญ่จะดำรงอยู่ในหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยหนึ่งตามหอสมุดห้องสมุดต่าง ๆ คอยซ่อมหนังสือในที่ชำรุด (บางครั้งแม้แต่บรรณารักษ์เองก็เป็นนักซ่อมหนังสือเช่นกัน) แต่เราก็ยังพอมองหาร้านซ่อมหนังสือได้จากที่ไหนบ้างล่ะที่นักอ่านทั่วไปจะสามารถนำหนังสืออันเป็นที่รักมารักษาได้

 

โนบุโอะ โอกาโนะ ,หมอหนังสือแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

โนบุโอะ โอกาโนะ ทำอาชีพนักซ่อมหนังสือมานานกว่า 30 ปีแล้ว ผู้คนจำนวนมากได้รู้จักเขาจากวิดีโอซีรี่ย์ Shuri, Bakaseru (The Fascinating Repairmen) ที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับนักคืนชีพในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ

ในวิดีโอ เป็นเรื่องราวของลูกค้าคนหนึ่งที่นำพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่นที่เขาใช้มาตั้งแต่สมัยเรียน โดยต้องการที่จะส่งต่อหนังสือเล่มนี้ให้แก่ลูกสาวที่กำลังเข้ามหาวิทยาลัย เขาอยากมอบหนังสือแห่งความทรงจำเล่มนี้แก่ลูกสาว เขาจึงไปที่ร้าน Okano’s shop ในย่าน Suidobashi ที่ Tokyo เพื่อมอบชีวิตใหม่ให้หนังสือเล่มนี้อีกครั้ง

ถ้าใครอยากรู้ว่าเขาคืนชีพหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร ตามไปได้ในลิ้งค์นี้เลยครับ

https://www.youtube.com/watch?time_continue=18&v=iSjI-BjrGLo

 

คุณกุ๊ก –ภัทรพล แห่ง BOOK CLINIC

ลองย้อนกลับมามองที่บ้านเราบ้าง เราก็มี "นักซ่อมหนังสือ" เป็นของตัวเองเหมือนกันนะ หมอหนังสือผู้นั้นชื่อว่า คุณกุ๊ก –ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล แห่ง BOOK CLINIC ที่ดำรงชีพอยู่กับอาชีพนี้มากว่า 10 ปีแล้ว และเท่าที่ผมเห็น BOOK CLINIC น่าจะเป็นร้านซ่อมหนังสือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

คุณกุ๊กเคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งนึงว่า "อาชีพซ่อมหนังสือเป็นงานที่ความต้องการสูง" โดยในปัจจุบันทาง BOOK CLINIC ก็มีการเปิดสอนเวิร์คช็อปสำหรับงานซ่อมหนังสือในตรงนี้เหมือนกัน ความสนใจในอาชีพเริ่มมีมามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนัก

จุดเริ่มต้นของคุณกุ๊กนั้นมาจากการทำงานร้านถ่ายเอกสารที่จะต้องการเข้าเล่มรายงาน และได้มีโอกาสซ่อมหนังสือเด็กครั้งแรกในช่วงปี 2542 นั่นทำให้ผมคิดว่า พนักงานในร้านถ่ายเอกสารหลายคนมีฝีมือในด้านการเข้าเล่ม เย็บเล่มก็ไม่ใช่น้อย น่าจะมาทำอาชีพนี้ได้ไม่ยาก

ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ตลาดของนักซ่อมหนังสือนั้นเป็นตลาดที่เล็กมากถ้าเทียบกับต่างประเทศที่ค่อนข้างมีฐานลูกค้ากว้างกว่า และมีรายได้ที่ค่อนข้างดีกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของนักซ่อมหนังสือในบ้านเราก็เป็นห้องสมุดโรงเรียนต่าง ๆ เพราะตลาดหนังสือเก่าในบ้านเราไม่ค่อยใหญ่สักเท่าไหร่นัก จึงไม่แปลกที่ส่วนใหญ่หนังสือเก่าจะมาจากลูกค้าต่างชาติ

ในสายตาผมนั้น นักซ่อมหนังสือก็ไม่ต่างอะไรกับนักมายากล เพราะมันมหัศจรรย์นะผมว่า เราอาจจะรู้สึกประทับใจตอนเห็นภาพ before-after แล้ว แต่พอมามองกระบวนการทำอีกที มันมีขั้นตอนและรายละเอียดที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความเข้าใจมากในระดับนึงเหมือนนะที่จะเสกหนังสือเก่าให้กลายเป็นหนังสือใหม่ได้

แต่การจะเป็นนักซ่อมหนังสือได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเป็นศาสตร์ความรู้ที่ไม่ค่อยมีใครทำ ไม่มีคนสานต่อ เป็นองค์ความรู้ที่หายไป ทั้งยังต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนพอสมควรจึงจะดำรงอาชีพอยู่ได้ แต่เราก็ต้องขอบคุณที่พวกเขาทำให้หนังสือของเรามีอายุต่อไปได้อีก 50 ปี

bottom of page