ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ "ตู้ขายหนังสืออัตโนมัติ" จากอดีตถึงปัจจุบัน
top of page

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ "ตู้ขายหนังสืออัตโนมัติ" จากอดีตถึงปัจจุบัน


ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีสำหรับตลาดหนังสือดูจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่นัก แม้ว่าจะมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย ก่อกำเนิด e-book ที่แม้จะอำนวยความสะดวกสบายแต่ก็ไม่สามารถตอบสนองอรรถรสในการอ่าน หรือจะเป็นเครื่อง Amazon Kindle ก็ยังไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคที่เป็นนักอ่านได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในอดีตก็เคยมีนวัตกรรมหนึ่งเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจนถึงปัจจุบันแล้วมันจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่นัก แต่ก็มีรูปแบบที่น่าสนใจ เป็นการขยายการอ่านให้กว้างขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ผมพูดถึงนั้นก็คือ "ตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัติ" ก็เป็นตู้แบบเดียวกับตู้กดน้ำที่เราหยอดเหรียญกันนั่นแหละ

เมื่อลองสืบค้นประวัติดู เรื่องราวความเป็นมาของตู้จำหน่ายหนังสือนั้นมีอะไรที่น่าสนใจกว่าที่คิด

 

ตู้จำหน่ายหนังสือต้องห้าม

ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อปี 1822 หรือเมื่อกว่า 195 ปีที่แล้ว ตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัติเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยคนขายหนังสือที่ชื่อว่า ริชาร์ด คาร์ไลล์ (Richard Carlile) โดยเขาต้องการขายหนังสือที่มีแนวคิดปลุกปั่นทางการเมืองอย่าง "Age of Reason ของโทมัส เพนย์" -- ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงความเสื่อมโทรมของศาสนาคริสต์ ทั้งยังกล่าวว่าพระคัมภีร์เป็นเพียงวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเท่านั้น งานของเขาได้รับความนิยมมากในอเมริกา แต่ถูกต่อต้านและห้ามจำหน่ายในอังกฤษ

ก่อนหน้านี้ริชาร์ด คาร์ไลล์ได้ถูกคุมขังเพราะเป็นคนตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกจำหน่าย เขาจึงหาวิธีการที่จะเผยแพร่มันโดยการสร้างเครื่องจำหน่ายหนังสืออัตโนมัติออกมาเพื่อขายหนังสือต้องห้ามเล่มนี้โดยเฉพาะ เขาเชื่อว่าวิธีนี้รัฐบาลจะไม่สามารถจับเขาได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนขาย แต่เครื่องจักรเป็นคนขายนี่นา!

วิธีการใช้งานเครื่องนี้เพียงแค่มายืนหน้าตู้ ทำการ “กดโทรออก” และบอกชื่อหนังสือที่ต้องการ วางเงินไว้ และหนังสือจะตกลงมาให้ตรงหน้า แม้กระบวนการทำงานหรือกลไกของตู้นี้จะยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด แต่ก็มีเค้าโครงความจริงมากพอที่จะเป็นหลักฐานว่าริชาร์ดได้กระทำการขายหนังสือต้องห้ามเล่มที่ว่า

แต่สุดท้าย รัฐบาลอังกฤษก็จับคนงานของเขาได้คนหนึ่งด้วยข้อหาติดตั้งเครื่องจำหน่ายหนังสืออัตโนมัตินี้เอง

 

เพนกวินคิวเบเตอร์ (The Penguincubator)

อีก 115 ปีต่อมา ในปี 1937 ก็ได้กำเนิดตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัติเล่มถัดไป มันมีชื่อว่า "เพนกวินคิวเบเตอร์" สร้างโดย อัลเลน เลน (Allen Lane) มันได้สร้างความสนใจให้แก้กลุ่มนักอ่านชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะมันจำหน่ายวรรณกรรมปกอ่อนราคาถูกเท่ากับบุหรี่ซองหนึ่งเท่านั้น

เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะ วันหนึ่งหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาได้ไปเยี่ยมอกาธา คริสตี้--ราชินีอาชญนิยายในเมืองเดวอน และในระหว่างขากลับไปลอนดอน เขาได้เลือกซื้อหนังสือจากร้านประจำสถานีเอ็กเซเตอร์ ก่อนที่จะพบว่ามันมีนิยายที่มีขายนั้นน้อยกว่าความต้องการ ทั้งเขาได้ตระหนักว่า นิยายดี ๆ ยังมีอยู่อีกเยอะ เพียงแต่มันไม่ได้ขายในสถานที่ที่ผู้อ่านเข้าถึงโดยสะดวก ด้วยเหตุนี้ อัลเลนจึงสร้างเจ้าเพนกวินคิวเบเตอร์ขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถซื้ออ่านหนังสือตามสถานที่ทั่วไปอย่างสถานีรถไฟ ร้านขายของชำ หรือร้านขายบุหรี่ ได้โดยง่าย

ถึงกระนั้นอัลเลน เลน ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จกับเจ้าเครื่องนี้นัก แม้ว่าเขาจะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงนิสัยการอ่านหนังสือของชาวอังกฤษ แต่เจ้าตู้จำหน่ายหนังสือัตโนมัติเครื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก เพราะมันผลิตออกมาในปริมาณน้อยเสียเหลือเดิน

 

Book-O-Mat

ในเดือนมิถุนายนปี 1947 บนฟากฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา นิตยสาร Popular Science ได้เปิดตัวเครื่องจำหน่ายหนังสือชื่อ Book-O-Mat ซึ่งบรรจุหนังสือมากถึง 50 เรื่องให้ผู้อ่านได้เลือกซื้อโดยง่าย

สองปีต่อมา ในปี 1949 บริษัท Rock-Ola Manufacturing Corporation บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายตู้เพลงและสล็อทแมชชีน ได้นำเสนอรุ่นอัพเกรดของตู้ขายหนังสือเครื่องนี้ชื่อว่า Book-O-Mat Rock-Ola ที่สามารถหยอดเหรียญแล้วกดเลือกหนังสือได้เหมือนตู้เพลง ทางบริษัท Rock-Ola ได้สร้างตู้ขายหนังสือนี้เสนอให้ผู้จัดจำหน่ายหนังสือเอาไปใช้ แล้วก็แบ่งส่วนแบ่งกัน

แต่ทว่า Book-O-Mat ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายนัก ถึงแท้ว่ามันจะสะดวกสบายก็จริง แต่ในสมัยนั้น หนังสือที่ราคาที่แพงพอสมควร จึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากจะเสียเงินเพื่อซื้อมันเหมือนกับการซื้ออาหาร

 

ปัจจุบัน

ทุกวันนี้ในประเทศจีนมีผู้ผลิตตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัติ 5-6 บริษัท

ในประเทศญี่ปุ่นก็มีการติดตั้งตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัตินี้ตามสถานีรถไฟต่าง ๆ เพียงแต่มันไม่ได้ขายเฉพาะหนังสือ แต่ยังมีขายอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงสื่อลามกต่าง ๆ (แบบฉบับญี่ปุ่นสไตล์) อีกด้วย

ในประเทศไอร์แลนด์ก็มีบริษัทผู้ผลิตตู้จำหน่ายหนังสือชื่อว่า A Novel Idea Vending และมีติดตั้งที่สนามบินฮีทโธรวด้วย แต่น่าเสียดายที่บริษัทนี้ล้มละลายไปเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมานี้เอง

ดูเหมือนว่าตู้ขายหนังสืออัตโนมัติจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงอย่างนั้นก็มีรายงานหนึ่งใน New York Times ระบุว่าเห็นเครื่องจำหน่ายหนังสือปกอ่อนในสถานีรถไฟใต้ดินของบาร์เซโลนาในปี 2008 จำหน่ายนิยายแปลภาษาสเปนของโนราห์ โรเบิร์ตและวิคตอเรีย โฮลท์ และยังมีการพบเห็นตู้แบบเดียวกันนี้ในมาดริด รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในประเทศสเปนด้วย

ในปี 2012 พบตู้กดหนังสืออัตโนมัติชื่อ Readomatic ที่สนามบินสตอกโฮล์ม ดูเหมือนว่าในประเทศเยอรมัน มันจะได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง

หรือกระทั่งในห้องสมุดสาธารณะฟูลเลอร์ตันในเมืองออเรนจ์ ก็ได้ติดตั้งเครื่องจำหน่ายหนังสือบริเวณสถานีรถไฟท้องถิ่น มีชื่อว่า "Redbox for books" และแจกจ่ายหนังสือขายดีกว่า 500 เรื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้หากมีบัตรห้องสมุด และไม่มียอดค้างชำระเกินกว่า 5 เหรียญ

 

ตู้ขายหนังสือมือสอง

ถึงแม้ว่าในภาพรวมแล้ว ตู้ขายหนังสืออัตโนมัติจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่มันกลับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เยี่ยมยอด อาทิ

Biblio-Mat ตู้ขายหนังสือมือสองอัตโนมัติของร้าน The Monkey’s Paw ในประเทศแคนาดา มันมีหน้าตาไม่ต่างจากตู้กดน้ำดื่มที่เราเห็นกัน เพียงแต่จะไม่มีตัวอย่างหนังสือใดๆ ให้ดู แค่หยอดเหรียญ 2 ดอลล่าร์ลงไป ก็จะได้รับหนังสือมือสอง 1 เล่ม ซึ่งเดาไม่ได้ว่าจะเป็นหนังสือแนวใด (เรียกง่าย ๆ ก็คือสุ่มนั่นเอง) หนังสือที่ออกมาก็ตั้งใหญ่และเล็ก หนาและบาง ให้คุณได้ลุ้นทุกครั้งที่เลือกซื้อ (ความจริงไม่ได้เลือกหรอก) เพื่อเปิดโอกาสให้หนอนหนังสือได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้รับมาก่อน

 

ตู้จำหน่ายหนังสืออัตโนมัติเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และถ้ามีประจำตามสถานีรถไฟ รถไฟฟ้า และสนามบินก็คงจะดีไม่น้อย เท่าที่ผมเห็นก็คงมีเครื่องขายนิตยสารอัตโนมัติในเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่

แต่ผมก็ไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วพฤติกรรมของผู้บริโภคบ้านเราจะตอบรับมันมากแค่ไหน

ที่มา : http://www.huffingtonpost.com/john-geoghegan/book-vending-machines_b_2945364.html

bottom of page