ผู้แต่ง สกุล บุณยทัต
ปีที่พิมพ์ สิงหาคม 2560
ขนาด 15 x 22.5 cm
จำนวนหน้า 240 หน้า
สำนักพิมพ์ ArtyHOUSE
ISBN 9786168132050
โรงมหรสพแห่งความสงบงาม
รวมบทความวิจารณ์หนัง และปรัชญาการละคร อันเข้มข้น ทรงพลัง ลุ่มลึกมากที่สุดแห่งยุคสมัย 42 บทคัดสรร
มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ มักมีความปรารถนาตาย (Death Wish) อยู่กับใจอย่าง มากมายจนไม่น่าเชื่อ บ้างก็ด้วยเหตุผลอันสืบเนื่องมาจากอุบัติการของชีวิต บ้างก็สืบเนื่องมาจากเหตุผลอันไม่เป็นเหตุผล เนื่องมาแต่อารมณ์อันแปรปรวน (Mood Disorder) จะอะไรก็แล้วแต่ดูเหมือนว่ายิ่งนับวันมนุษย์ก็มีส่วนกำหนดพื้นฐาน และข้อสรุปแห่งความตายของตัวเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น
“จริง ๆ แล้วเรามีสิทธิ์ที่จะจบชีวิตของตนเองลงได้หรือไม่” นั่นเป็นคำถามที่หนังรางวัลกินรีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติกรุงเทพฯ ถือเป็นประเด็นแห่งการนำเสนอ เหมือน ๆ ประเด็นแห่งจิตใจเช่นเดียวกันนี้ ในหนัง “Leaving Las Vegas” “Birdy” หรือ “The Deer Hunter” ตัวละครแต่ละตัว ล้วนมีลีลาบทบาทในการปรารถนาตาย ด้วยเงื่อนไขที่ผู้สร้างและผู้กำกับหนังแต่ละคนเป็นผู้กำหนดไว้ เริ่มต้นจากแนวทางอันเป็นภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งถือเป็นจุดระเบิดอันสำคัญของการนำไปสู่ความซับซ้อนแห่งการดำเนินเรื่องราวและบทสรุปอันน่าใคร่ครวญและชวนวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
- จาก “The Sea Inside” ยถากรรมแห่งปรารถนาด้านในของชีวิต
สืบเนื่องจากละครโทรทัศน์ของไทยได้เนื้อหาสาระในลีลา “น้ำเน่า” นี้มาจากนวนิยาย เหตุนี้จึงทำให้เราต้องมองย้อนหลังไป ถึงทรรศนะแห่งนวนิยายที่เป็นสากลนับแต่ยุคเริ่มต้นเพื่อมองให้เห็นต้นเค้าของการพัฒนาในระยะเริ่มแรกเสียก่อน
นวนิยายถือเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ ซึ่งสืบสานมาจากงานสร้างสรรค์ของโลกตะวันตก นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือเป็นยุคสมัยที่โลกมีความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน…มนุษย์ก็มีความเชื่อมั่นในด้านความสามารถของมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ ผู้คนในช่วงนั้น อ่านหนังสือมากขึ้น เป็นเหตุให้วรรณกรรมแพร่ขยายไปสู่นักอ่านซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชั้นล่าง เนื้อเรื่องในวรรณกรรมสมัยนั้นไม่ว่าจะอยู่ในประเภทใดเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนสามัญ ตลอดจนการสะท้อนบทบาทในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ชนชั้นสูงในสังคมที่มักหลงตนว่าดีกว่าคนอื่นและชอบฟุ้งเฟ้อ…
- จาก เบื้องลึก…แห่งละครน้ำเน่า คือ “แก่นแท้…แห่งจินตนาการของอารมณ์…?”