[Reviewล]"ชายชื่อ อูเว" - มนุษย์ลุงผู้ยิ่งเหงา ผู้มีหัวใจอันใหญ่ยิ่ง
top of page

[Review]"ชายชื่อ อูเว" - มนุษย์ลุงผู้ยิ่งเหงา ผู้มีหัวใจอันใหญ่ยิ่ง

“จงใช้ชีวิตให้ยิ่งใหญ่จนคนเอาไปเขียน

หรือไม่ก็เขียนอะไรที่มันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับชีวิต”

ผมจำไม่ได้ว่าใครเคยพูดประโยคนี้กับผม แต่มันเป็นสิ่งที่ผมยึดเป็นหลักในการทำงาน ดำเนินชีวิต และผลิตงานเขียน เอาจริงๆนะ ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดแต่ว่าเราเลือกได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คงไม่สามารถเลือกได้ทั้งสองอย่าง แต่ถ้ามันทำได้ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆแน่ๆ

ในหนังสือเล่มนี้ “อูเว” ใช้ชีวิตอย่างยิ่งใหญ่

และ “เฟดริก” ก็เขียนอะไรที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับชีวิต “อูเว”

แต่พอเอาเข้าจริง มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่ผมจินตนาการสักนิด

แต่มัน ... สวยงามหมดจด

 

“ชายชื่อ อูเว” เป็นบทประพันธ์แปลจากจากหนังสือ “A man called Ove” (2012) ของเฟดริก แบคแมน นักเขียนและบล๊อกเกอร์ชื่อดังชาวสวีเดน หนังสือถูกนำไปทำเป็นภาพยนต์เมื่อปี 2015 ก็ก็ไม่ใช่เพราะว่าวรรณกรรมสวีเดนในท้องตลาดมีไม่มากเขาจึงไม่รู้จะหยิบเล่มไหนไปทำหรอกนะ แต่เพราะหนังสือเล่มนี้มันดีมากจริงๆ ดีจนควรได้เป็นหนัง แม้ไม่มีรางวัลอะไรการันตีก็ตาม

ใบปิดภาพยนตร์

ทีแรกหลังจากอ่านจบ ผมนึกคำตั้งนานว่าจะเขียนถึงมันว่าอย่างไร ใช้เวลาถึงสองคืนสุดท้ายผมก็เขียนได้แค่ว่าหนังสือเล่มนี้ ดีมากจริงๆ แค่นั้นเอง เป็นคำง่ายๆแต่ความหมายตรงตามนั้นหมด เหมือนชีวิตของอูเวในหนังสือเลย อูเวทำให้เราเห็นความสวยงามของมุมมองด้านปกติ ที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์สัมผัสและทำให้มันเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ เรียบง่าย แต่ตรงตามจริงของชีวิต

อูเว คือมนุษย์ลุงธรรมดาๆ ที่หน้าตาบึ้งตึง หงุดหงิดง่ายเป็นที่สุด ไม่ยอมเป็นมิตรกับใครง่ายๆ และตกสมัย (ในศัพท์ของพวกเรา หมายถึงยิ่งกว่าล้าสมัย) บุคลิกไม่เหมือนใครที่จะมาเป็นตัวเอกในนิยายสักเล่มหนึ่งได้เลย เอาจริงๆ อูเวคือมนุษย์ลุงทั่วๆไปที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันนั่นล่ะ มนุษย์ลุงที่บางทีเราก็คว่ำปากใส่

แต่เฟดริกยิงคำถามผ่านตัวหนังสือในสองสามบทแรกใส่กลางแสกหน้าคนอ่านว่า “คุณรู้จักมนูษย์ลุงดีแค่ไหนก่อนจะเกลียดเขา?” แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ คลี่คลายเรื่องราวผ่านเรื่องเล่าที่เหลือทั้งหมดของเล่มให้เราเข้าใจว่า คนทุกคนบนโลกนี้ ล้วนมีเรื่องราว เหตุผล ความจำเป็น ที่อธิบายที่มาที่ไปของแบบฉบับตัวเขาเองเสมอ เราคงไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ลุงหมดทุกคนหรอก

โดยที่ไม่ต้องเขียนเป็นตัวอักษร แต่เฟดริกจับอูเวมาแสดงให้เราเรียนรู้ความจริงที่ว่า คนทุกคนล้วนต่อสู้อยู่ในสมรภูมิของตัวเองตลอดเวลา ถ้าเราใจดีกับเขาไม่ได้ ก็อย่าไปตัดสิน และใจร้ายใส่เขาเลย มันเป็นความจริงสามัญธรรมดาที่เราเคยได้ยิน หากแต่หลงลืมที่จะย้ำมันกับตัวเอง ปล่อยให้อคติมามองคนแต่ภายนอก ตัดสินคนจากหน้าตาบึ้งๆที่ไม่ยิ้มไปเสียนี่

หน้าปกฉบับสวีเดน

หากใครคิดว่าหลังๆมานี้หัวใจเราแห้ง น้ำใจเราหายไป หรือเรามองโลกแง่ร้ายขึ้นเรื่อยๆจนบางทีก็กลัวตัวเอง ผมแนะนำให้หยิบงานเล่มนี้มาอ่าน หัวใจคุณจะค่อยๆชื้นและเต็มตื้นขึ้นเรื่อยๆในทุกหน้าที่เปิดอ่าน ผมรู้สึกแบบนั้นมาแล้วจริงๆ ต้องยอมรับว่าเฟดริกเป็นพ่อมดที่ใช้เวทมนต์ผ่านตัวอักษรเติมน้ำในหัวใจคนอ่าน

นอกจากอูเวแล้ว สีสันของหนังสือเล่มนี้ก็มาจากตัวละครอื่นๆที่เป็นเพื่อนบ้านแสนซุ่มซ่าม จุ้นจ้าน หนุ่มข้างบ้านที่ออกจะแปลกๆ เพื่อนร่วมชีวิตที่อยู่ท้ายหมู่บ้าน เจ้าแมวจรจัด หรือแม้กระทั่งยายปากร้ายกับหมากระเป๋า ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เราเข้าใจมนูษย์ลุงแบบอูเวมากขึ้น ผมอยากบอกว่าทุกตัวตนสำคัญหมด เพราะมันสะท้อนถึงคนทั่วๆไปในสังคม ความสนุกอีกอย่างในการอ่านคือ จับให้ได้ว่าตัวเราเหมือนกับตัวละครตัวไหนในหมู่บ้านของอูเว

มันเหมือนเฟดริกสร้างหมู่บ้านเล็กๆนี้ขึ้นมา เพื่อจำลองความหลากหลายของโลกเรา แล้วเล่ามันผ่านชีวิตของอูเว มันสวยงามที่ว่า แม้สุดท้ายบางเรื่องได้ข้อสรุป บางเรื่องไม่ได้ บางอย่างจำใจต้องปล่อยไป แต่รู้อะไรไหม ยังไงโลกก็หมุนไปอยู่ดี ไม่ว่าจะมีข้อสรุปที่สวยหรูหรือไม่ก็ตาม

 
หน้าปกฉบับสหรัฐอเมริกา

ประเด็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ และไม่อยากให้พลาดจากหนังสือเล่มนี้คือ “หัวใจ” แม้จะไม่ได้บอกตรงๆ แต่ที่จริงแล้ว อูเว คือตัวแทนของความเหงาทั่วไปที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ

อาจารย์จิตเวชเคยสอนผมไว้ว่าหัวใจเราเติบโตตลอดเวลา ดังนั้นพื้นที่ในหัวใจเราจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่เอาอะไรมาเติมในหัวใจ มันจะกลายเป็นช่องโหว่ และนั่นเรียกว่าความเหงา แล้วมันจะเกิดอะไรหากจู่ๆหัวใจเราที่เต็มอยู่ โดนดึงออกไปทีละส่วน ทีละส่วน จนเหลือแค่เราคนเดียวในพื้นที่ว่างๆ เราจะทำอย่างไร?

เฟดริก อธิบายวัฏจักรความเหงาผ่านชีวิตของอูเว เมื่อพื้นที่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความรักเกิดรูโหว่ คนเราควรจะทำอย่างไรกับหลุมนั้น หาอะไรมาเติมดีไหม? หรือว่าอยู่ไปกับความเหงา จนกระทั่งตัวเราเริ่มผุพังและเน่าไปกับมัน นั่นคือสิ่งที่อูเว มนุษย์ลุงอายุ 59 ปีต้องเผชิญ นี่คืออารัมภบทที่ผมอยากเล่า แต่เรื่องราวต่อจากนี้คุณคงต้องไปอ่านมันเอาเองจริงๆ

สิ่งสุดท้ายที่อูเวสอนผมในช่วงหลังๆคือ ทุกสิ่งมีการส่งต่อเสมอ หลายคนเกลียดและกลัวการเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกับอูเวเอง แต่สุดท้ายนะเราหยุดมันไม่ได้ ต้านมันไม่ได้หรอก ยอมรับมันเสียดีกว่า แล้วจะพบว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย

หากบ่ายวันหยุดนี้ฝนตกแล้วคุณออกไปไหนไม่ได้ ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับการนั่งพิงกรอบหน้าต่างแล้วค่อยๆอ่านทีละบทๆ โดยที่ไม่รู้ตัว แก้มคุณจะเปียกไปด้วยน้ำตาจากความอบอุ่นของชายคนนี้

ชายที่ชื่อ ... อูเว

 

แท็ก:

bottom of page