- ผู้เขียน: Plato
- ผู้แปล: เวธัส โพธารามิก
- สำนักพิมพ์: ทับหนังสือ
- จำนวนหน้า: 700 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 3 — กุมภาพันธ์ 2559
- ISBN: 9786164064782
รีพับลิก ปรัชญานิพนธ์ของ : เพลโต (ปกอ่อน)
นิยามคำว่า “ธรรมะ” เพลโตเองก็ไม่อาจกระทำได้ง่ายๆ เพราะเพลโตยอมรับว่าสังคมที่เป็นอยู่นั้น เลว มนุษย์ส่วนมากก็ล้วนมีอวิชชา เพลโตจึงต้องสร้างรัฐขึ้นมาใหม่ สร้างราษฎรขึ้นมาใหม่ มีระบบการศึกษาใหม่ ด้วยเหตุฉะนี้ “รีพับลิก” จึงเป็นทฤษฎีทั้งในทางการเมือง การศึกษา ศิลปะ วิทยาการ วรรณคดี และลัทธิศาสนา พร้อมอยู่ในตัว แม้เมื่อสรุปลงแล้ว เพลโตอาจจะตอบปัญหาบางประการถึงใจเรา แต่วิธีเสนอข้อคิดความเห็นก็เป็นไปตามเหตุตามผลสมกับเป็นหนังสือปรัชญา ปรัชญาผิดกับวิชาอื่นๆ และนักปราชญ์ก็ผิดกับฅนอื่นๆทั้งหลาย สรุปได้ว่า
“นักปราชญ์คือ ฅนที่มีอำนาจความคิดยิ่งกว่าสามัญชน เป็นฅนที่คิดในเรื่องธรรมดาๆ ยิ่งกว่าบุคคลอื่น ผลที่ได้จึงเป็นความจริงอันมีเหตุผลสนับสนุน”รีพับลิกเป็นบทประพันธ์ชิ้นสำคัญของเพลโต (Plato) ปราชญ์ชาวกรีกผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักคิดผู้ทรงอิทธิพลตลอดกาลของโลกตะวันตก กล่าวกันว่า รีพับลิก ประพันธ์ขึ้นในช่วงที่ความคิดของเพลโตกำลังผลิบานหรือเกือบสุกงอมเต็มที่ โดยมี โซเครติส (Socrates) ปราชญ์ผู้มีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดำเนินเรื่อง บทสนทนาในเล่มครอบคลุมปัญหาทางปรัชญา ทฤษฎีความรู้ จิตวิทยา และดูจะกินความไปไกลกว่าการเมืองการปกครองอย่างมากมาย
Republic มีรากศัพท์มาจากคำภาษาละติน republica ซึ่งปราชญ์ชาวโรมันซิเซโร (Cicero) ได้แปลมาจากคำกรีก polis ที่หมายถึง ‘เมือง’ หรือ ‘นครรัฐ’ ซึ่งมาจากชื่อดั้งเดิมในภาษากรีก Πολιτεία ( Politeia) หรือ ‘การปกครอง’ ซึ่ง Republic ในฉบับแปลไทยโดยปรีชา ช้างขวัญยืนที่ให้ชื่อว่า ‘อุตมรัฐ’ หรือ ‘รัฐอันสมบูรณ์ยิ่ง’ ตามที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์เคยบัญญัติไว้นั้น จึงเป็นการแปลชื่อในแบบ ‘ตีความ’ การ ‘ตีความ’ ของซิเซโร
แม้รีพับลิกจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผู้ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์จำเป็นต้องอ่านเพราะเป็นผลงานที่ชวนให้เกิดข้อคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ด้วยเนื้อหาความคิดหลายอย่างในเล่มที่ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิกที่ดำรงอยู่กับมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ซึ่งสามารถสรุปด้วยถ้อยคำของเวธัส โพธารามิก ผู้แปลที่ได้กล่าวไว้ว่า “วรรณกรรมของเพลโตเล่มนี้เต็มไปด้วยข้อสมมติฐานหลากหลาย ซึ่งยังคงก้องกังวานมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ เหตุใดมนุษย์จึงควรทำดี ระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จิตวิญญาณของมนุษย์ประกอบด้วยสิ่งใด ตายแล้วไปไหน บทกวีอันไพเราะงดงามนั้นมีคุณค่าจริงๆหรือไม่ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเล่มนี้ทั้งสิ้น”