- ผู้เขียน: เพลโต (Plato)
- ผู้แปล: อู่ท่อง โฆวินทะ และ ศุภมิตร เขมาลีลากุล
- สำนักพิมพ์: คอมม่อน (commonbooks)
- จำนวนหน้า: 240 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — สิงหาคม 2558
- ISBN: 9786169119265
บทสนทนาเฟดรัสและไอออน ของ เพลโต
เฟดรัส (Phaedrus) จัดเป็นบทสนทนาของเพลโตที่ถูกหยิบขึ้นมาอ่านใหม่มากที่สุด ไม่แพ้บทสนทนา Symposium ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21
หลังจากที่รอคอยการ “ค้นพบ” ล่วงมาถึงยี่สิบห้าศตวรรษ เฟดรัส ได้รับการพิจารณาอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการได้รับการใคร่ครวญใหม่ (rethinking) จากนักปรัชญาเรืองนามแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) และฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida) ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลต่อกระแสของการศึกษาบทสนทนาชิ้นนี้ในบริบทร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง ในบทความที่ชื่อ “Plato’s Pharmacy”หรือห้องยาของเพลโต (ในหนังสือชื่อ Dissemination) ฌาคส์ แดริดา ได้นำเสนออย่างลุ่มลึกและแหวกแนวเกี่ยวกับความโดดเด่นของเฟดรัสในฐานะผลงานชิ้นแรกของประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกที่พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาของการพูด (speech หรือ logos) และการเขียน (writing หรือ graphe) รวมทั้งวาทศิลป์ (rhetoric) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการเป็นมนุษย์ในฐานะที่เราเป็นสัตว์ที่พูดได้
เฟดรัส จึงนับว่าเป็นบทสนทนาของเพลโตที่มีความสำคัญยิ่งในประเด็นวาทศิลป์และปรัชญา การนำเฟดรัส (Phaedrus) และไอออน (Ion) มารวมอยู่ในเล่มเดียวกันนี้ ก็เนื่องจากสองบทสนทนามีเนื้อหาที่เชื่อมโยงคาบเกี่ยวกันในประเด็นดังกล่าว หรือที่มักนิยมเรียกขานกันว่า ข้อพิพาทระหว่างกวีนิพนธ์และปรัชญา (The battle between poetry and philosophy) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำความเข้าใจในเรื่องของการพูดและการเขียนอันเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ในอีกหลากหลายบทสนทนาตลอดชีวิตการประพันธ์ของเพลโต
พร้อมกันนี้ เพื่อช่วยในการอ่านและการทำความเข้าใจ หนังสือเล่มนี้ยังได้เพิ่มบทนำเฟดรัส หรือ “อ่านเฟดรัสของเพลโต” และบทส่งท้ายที่บรรยายให้เห็นว่าเหตุใดเรื่องของวาทศิลป์และปรัชญา หรือ “การเปิดศึก” กับกวีนิพนธ์ ของเพลโต จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากในบริบทของศตวรรษที่ 5 และ 4 ก่อนคริสตกาล บทความทั้งสองนี้เขียนโดย อู่ทอง โฆวินทะ บรรณาธิการและผู้แปลร่วม